วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

นายพิเชียร เชฎฐะ..ผู้ริเริ่มคิดค้นตุ๊กตาผ้าขนสัตว์


นายพิเชียร เชฎฐะ เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นบุตรของนายจุฑาและนางยุพา เชฎฐะ สมรสกับนางแก้ว เชฎฐะ มีบุตรสาว 2 คน จบการศึกษาระดับปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จาหมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2528 ปัจจุบันรับราชการครู โรงเรียนชุมชนวัดกำแพงใต้ อ.โพธาราม
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการริเริ่มคิดค้นและการเผยแพร่เกี่ยวกับการทำตุ๊กตาผ้าขนสัตว์ให้เป็นที่รูจักอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นอาชีพสำคัญของคนท้องถิ่นที่นำรายได้มาสู่จังหวัดราชบุรี และประเทศไทยปีละหลายล้านบาท โดยท่านกับภรรยาได้ร่วมกันคิดค้นและประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้าขนสัตว์รูปสุนัขมีขนปุกปุยออกขายเป็นอาชีพเสริม เมื่อปี พ.ศ.2528 ปรากฏว่าขายดีมาก จึงได้มีการนำเอาวัสดุต่างๆ มาจัดทำพร้อมหาคนในท้องถิ่นมาฝึกช่วยทำ จนในที่สุด เมื่อมีคนทำเป็นมากขึ้น จึงได้แยกตัวไปทำเองกันมากขึ้น จนส่งผลให้มีการทำกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นอาชีพท้องถิ่นที่สำคัญอาชีพหนึ่งของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน และทำให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รู้จักว่า จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาผ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นอกจากนั้น ท่านยังได้จัดตั้ง "ศูนย์พิเชียรแก้วศูนย์หัตถกรรมท้องถิ่น" ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ผลิตตุ๊กตา ศูนย์วัสดุอุปกรณ์การผลิตตุ๊กตาผ้าทุกประเภท ศูนย์กลางให้ความรู้ในการผลิต และศูนย์กลางการตลาดตุ๊กตาผ้าของชาวบ้านกำแพงใต้ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม
สำหรับงานด้านการเผยแพร่เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการตุ๊กตาผ้านั้น ท่านได้เป็นวิทยากรพิเศษ ให้แก่สถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี มาโดยตลอด รวมทั้งสถาบันการศึกษาและคณะบุคคลต่างๆ ที่ไปศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการผลิตและการจัดการอยู่เสมอ ตลอดจนร่วมมือกับคณะครูในโรงเรียนและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.ราชบุรี ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและเผยแพร่อาชีพสู่ชุมชนเสมอ
นอกจากนั้น สถานีโทรทัศน์หลายช่อง ที่มาถ่ายทำและนำไปออกอากาศเผยแพร่ เป็นต้นว่า ในปี พ.ศ.2529 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "บันทึกเมืองไทย 5 นาที" ในปี พ.ศ.2535 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 ถ่ายทำและออกอากาศใยรายการ "คนไทยวันนี้" และสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "ไม่ลองไม่รู้" และในปี พ.ศ.2542 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 11 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "แรงงานไทยในยุคนี้"
ในด้านเกียรติคุณและรางวัลสำคัญที่ท่านได้รับนั้น ในปี พ.ศ.2535 ได้รับรางวัลดีเด่นเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ จากหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ และในปี พ.ศ.2537 ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า จากกระทรวงมหาดไทย
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพนธ์. (หน้า 265-266)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น