วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

นางช้อน กำลังหาญ...ผ้าซิ่นตีนจก


นางช้อน กำลังหาญ เป็นคนเชื้อสายไทยวน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2446 ที่บ้านสระโบสถ์ หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรีของนายบดและนางทองคำ เพ็งระแก้ว สมรสกับนายโหมด กำลังหาญ มีบุตรจำนวน 6 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 รวมอายุได้ 90 ปี
ท่านได้ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกจากนางคำผู้เป็นมารดา ตั้งแต่เยาว์วัยจนสามารถทอผ้าเองได้ และทออย่างต่อเนื่องโดยตลอด แม้ว่าความนิยมทอผ้าจะขาดหายไปช่วงหนึ่งก็ตาม
ซึ่งแต่เดิมผลงานทอผ้าของท่าน เป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะในละแวกตำบลคูบัวเท่านั้น เนื่องจากเป็นการทอผ้าเพื่อใช้กันเองในครัวเรือน แต่ต่อมาเมื่อท่านได้ใส่ผ้าซิ่นตีนจกไปเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดสันติการาม (พุพลับ) อ.ปากท่อ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2517 และได้มีโอกาสถวายผ้าจกโบราณสำหรับใช้คลุมหรือปกศีรษะนาค แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงรับผ้าจกโบราณอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้มีพระราชดำรัสถามว่า “ผ้านี้ยายทอเองหรือ ตอนนี้ยังทอได้อยู่หรือเปล่า ถ้าทอผ้าได้ก็ขอให้ทอไปเรื่อยๆ “ หลังจากนั้น ท่านได้นำผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นภายหลังจากมีพระราชดำรัสถามในคราวนั้น ไปถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชวังสวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2519
ต่อมาในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานเมืองคูบัว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2520 ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังบ้านของท่าน เพื่อทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการทอผ้าจก
ครั้นต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปรับท่านและนางทองอยู่ กำลังหาญ ผู้เป็นบุตรสาวไปสาธิตการทอผ้าตีนจกที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม -14 มิถุนายน 2521 นับแต่นั้นมา ชื่อเสียงของท่านก็ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผลงานไปปรากฏยังสถานที่ต่างๆ ตลอดจนบางครั้ง ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปสาธิตการทอผ้าด้วย
ด้วยความเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นในด้านการทอผ้าซิ่นตีนจก และได้เดินทางไปสาธิตการทอผ้ายังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง อันส่งผลให้ผ้าซิ่นตีนจก และการทอผ้าที่เป็นมรดกทางศิลปหัตถกรรมล้ำค่าของชาวไทยวนราชบุรี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จึงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ ประจำปี พ.ศ.2533 ที่มา: มโน กลีบทอง (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และ จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 259-260)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น