วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

นายจวน เครือวิชฌยาจารย์..ภาษาและวรรณกรรม


นายจวน เครือวิชฌยาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2466 ที่บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 4 ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายล้วนและนางเลื่อน เครือวิชฌยาจารย์ เนื่องจากเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ เมื่ออายุได้ 9 ขวบ บิดามารดา จึงให้ศึกษาภาษามอญก่อน โดยเรียนภาษามอญชั้นต้นกับพระอาจารย์วัดม่วง เรียนภาษามอญชั้นกลางกับพระอาจารย์วัดมะขาม และเรียนภาษามอญชั้นปลายที่วัดโพธิ์โสภาราม อ.บ้านโป่ง และได้เรียนบาลีไวยากรณ์จนสามารถแปลพระธรรมบท ได้อย่างแตกฉาน ส่วนการศึกษาภาษาไทยได้เรียนกับพระอาจารย์วัดโพธิ์โสภาราม เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการที่เปิดสอนในพื้นที่แถบนั้น
ต่อมาได้เรียนธรรมศึกษาจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ.2486 และได้เรียนด้วยตนเองจนสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2487 แล้วสอบได้ประโยคครูมัธยม (พ.ม.) เมื่อปี พ.ศ.2512 โดยเข้ารับข้าราชการเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2490 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ชั้นเอกโรงเรียนชุมชนวัดปลักแรด อ.บ้านโป่ง
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้านที่สำคัญคนหนึ่งของ จ.ราชบุรี โดยเป็นบุคคลที่มีความมานะ ใฝ่เรียนรู้ และมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงหลังเกษียณอายุราชการเขียนและแปลงานจากคัมภีร์ใบลานโบราณที่วัดและชุมชนชาวมอญเก็ยรักษาไว้ ที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยรามัญ(มอญ) จากภาษามอญเรียงเป็นภาษาไทย เพื่อให้อนุชนร่นหลังได้ศึกษาและสืบทอดได้ ซึ่งมีผลงานที่สำคัญได้แก่
  • "คัมภีร์โลกสมุตติ" เป็นผลงานแปลจากภาษมอญเป็นภาษาไทย พิมพ์ในหนังสือ "ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง" เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เฉลิมพระเกียรติสมเด้จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535
  • "วัฒนธรรมประเพณีมอญ" เขียนขึ้นจากประสบการณ์และศึกษาค้นคว้าจากผู้รู้ โดยกล่าวถึงประเพณีชาวไทยรามัญ(มอญ) ของจังหวัดราชบุรีที่สำคัญ ตีพิมพ์ในหนังสือ "ท้องถิ่นศึกษา ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านโป่ง" พ.ศ.2536
  • "ปมา-สีสี่ นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ" เป็นผลงานแปลจากต้นฉบับภาษามอญ จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม พ.ศ.2536
  • "ตำราทำนายฝันและนิมิตสังหรณ์สัตว์" เป็นผลงานแปลจากภาษามอญ จัอพิมพ์เผยแพร่โดยพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พ.ศ.2536
  • "วิถีชีวิตชาวมอญ" เป็นผลงานแปลจากภาษามอญ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539
  • "ตำราหมอนวดมอญ" ผลงานแปลจากภาษามอญ จัดพิมพ์เผยแพร่โดย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พ.ศ.2540

นอกจากงานเขียนและแปลแล้ว ท่านยังได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาของประเทศหลายแห่งให้เป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยรามัญ(มอญ) เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฎต่างๆ

สำหรับเกียรติคุณและรางวัลสำคัญที่ท่านได้รับนั้น ท่านเป็นคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง คณะกรรมการสภาวัฒนธรรม อ.บ้านโป่ง ในปี พ.ศ.2537 ได้รับโล่รางวัลบุคคลดีเด่นจากสำนักงานสาธารณสุข อ.บ้านโป่ง กระทรวงสาธารณสุข และในปี พ.ศ.2539 ได้รับเกียรติบัตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่น ชมรมชาวมอญ กรุงเทพมหานคร
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 264-265)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น