พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ราชกุมาร พระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2396 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2411 เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา ครองราชย์เป็นระยะเวลา 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 รวมพระชนมายุได้ 68 พรรษา
จากหลักฐานเท่าที่สืบค้นได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรี ถึง 10 ครั้ง ดังนี้
ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2414 เป็นการเสด็จเขาวังครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดที่บ่งบอกถึงการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแต่อย่างใด
ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.2416 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งแรก ซึ่งตามหลักฐานในโครงการนิราศที่พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นสำนวนของผู้ตามเสด็จชื่อ ท้าวสุภัตติการภักดี(นาก) ได้มีการเสด็จประทับแรมในท้องที่เมืองราชบุรี ถึง 3 คืน แต่ก็ไม่ปรากฏการกล่าวถึงว่า เสด็จพระราชดำเนินไปสถานที่ใด หรือบำเพ็ญพระราชกรณียกิจใดบ้าง ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.2420 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่สอง โดยเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีและประทับแรมที่พลับพลาโพธารามและพระราชวังบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง) ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้น เพื่อเสด็จออกรับราชฑูตโปรตุเกตุที่เข้าเฝ้า ณ พระราชวังบนเขาสัตตนารถ (เขาวัง) ครั้งที่สี่ ในปี พ.ศ.2431 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่สามโดยเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีและประทับแรมที่พลับพลาหลุมดิน ระหว่างที่เสด็จประทับแรม ได้มีการเสด็จประพาสตลาดโพธาราม เมืองโบราณหลุมดิน วัดมหาธาตุ ตลาดเมืองราชบุรี พระราชวังเก่าเมืองราชบุรี(พระราชวังริมน้ำ) ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี วัดศรีสุริยวงศ์ พระราชวังบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง) และเขางู ครั้งที่ห้า ในปี พ.ศ.2434 เป็นการเสด็จประพาสถ้ำจอมพล และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ไว้บนผนังถ้ำบริเวณทางเข้าด้วย
ครั้งที่หก ในปี พ.ศ.2442 เป็นการเสด็จประพาสถ้ำสาริกา และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร."ไว้บนผนังถ้ำบริเวณทางเข้าอีกด้วย
ครั้งที่เจ็ด ในปี พ.ศ.2444 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีเปิดสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง "จุฬาลงกรณ์"
ครั้งที่แปด ในปี พ.ศ.2446 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อนำทหารมาฝึกที่ค่ายหลุมดิน
ครั้งที่เก้า ในปี พ.ศ.2447 เป็นการเสด็จประพาสต้นครั้งแรก อันปรากฏหลักฐานในจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ เป็นจดหมายเหตุนายทรงอานุภาพ หุ้มแพรมหาดเล็กเล่าเรื่องเสด็จประพาสเขียนส่งให้นายประดิษฐ์ ซึ่งการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ ได้ทรงพบกับยายผึ้งและเจ๊กฮวดผู้เป็นบุตรชายที่ถวายการต้อนรับเป็นอย่างดี และเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก
ครั้งที่สิบ ในปี พ.ศ.2452 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี อันปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขา รวม 4 ฉบับ
ในการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีแต่ละครั้งนั้น พระองค์มักทรงมีพระราชหัตถเลขาบรรยายถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้ทอดพระเนตรเสมอ ซึ่งเป็นหลักฐานอันดีที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพบ้านเรือนและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงสมัยนนั้นได้เป็นอย่างดี อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ชาวราชบุรีพากันน้อมรำลึกถึงอยู่เสมอ
ที่มา : มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (254-255)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น