หลวงสิทธิเทพการ |
ผมได้อ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับตำนานต่างๆ ของจังหวัดราชบุรี และหากพูดถึงบ้านโป่งแล้วทุกคนในรุ่นเก่าๆ จะเอ่ยถึง "หลวงสิทธิเทพการ" เป็นประจำ จึงทำให้ผมอยากที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับชีวประวัติของท่าน รวมทั้งผลงานและคุณูปการต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ ซึ่งที่ค้นคว้าได้ต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยนิด ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมได้ช่วยกรุณาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ในตอนท้ายบทความนี้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังที่จะทำการศึกษาต่อไป
จากหนังสือลุ่มน้ำแม่กลอง ประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ "เครือญาติ" มอญ ซึ่งพิมพ์เมื่อ กันยายน 2547 ได้กล่าวถึงหลวงสิทธิเทพการ ไว้สั้นๆ ว่า
"หลวงสิทธิเทพการ เดิมชื่อ กิมเลี้ยง (พ.ศ.2447-2502) เป็นลูกชาวจีนบ้านห้วยลึก ที่อพยพมาจากดอนกระเบื้อง หลวงสิทธิฯ เกิดที่ดอนกระเบื้องแล้วมาทำกิจการการค้าที่บ้านบางตาล (ทำนา ส่งฟืนให้รถไฟ ซื้อขาย-ข้าว) จนฐานะดี จึงเริ่มขยายกิจการมายังตลาดบ้านโป่ง (โรงสี โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง) ย้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ตลาดบ้านโป่งประมาณ พ.ศ.2470
ท่านได้บรรดาศักดิ์ เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงซ้อมรบสนามในกิจการเสือป่า ไม่มีผู้ใดมีกำลังผู้คนสร้างที่ซ้อมรบได้ทันกำหนดภายใน 3 สัปดาห์ ได้หลวงสิทธิฯ ท่านสามารถรับจ้างทำได้ทันเวลา จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์พร้อมกระบี่และตราตั้งให้ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมบ้านโป่ง ผ่านองค์กรศาสนาคริสต์ เพราะท่านเป็นคริสตังโดยกำเนิด"
ผมพยายามค้นหาจาก Google เพิ่มเติม ไปพบกับกระทู้ "เล่าขานตำนานบ้านโป่ง" ใน http://www.pantown.com ซึ่ง Post โดย ชาวบ้านโป่งรุ่นพ่อ เมื่อ 26 ต.ค. 47 เรื่องหลวงสิทธิเทพการ เลยคัดลอกนำมาเขียนเพิ่มเติม ดังนี้
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ " นายกิมเลี้ยง วังตาล " หลายคนอาจไม่รู้จักหรือทำท่างงๆ แต่ก็พอจะคุ้นเคยกับนามสกุลวังตาล ตระกูลคหบดีเก่าแก่ในบ้านโป่ง
แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อ " หลวงสิทธิเทพการ " คนบ้านโป่งรุ่นเก่าๆ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหลายคน ต้องรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี "หลวงสิทธิเทพการ" คหบดีที่มีชื่อเสียงของชาวบ้านโป่ง ท่านเกิดที่ตำบลดอนกระเบื้อง พอโตขึ้นเป็นวัยหนุ่มด้วยที่เป็นลูกคนจีน ชอบค้าขายได้มาปักหลักทำการค้าที่บ้านบางตาล ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะดี ก็ขยายกิจการมาที่ตลาดบ้านโป่ง โดยทำกิจการโรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง (ตั้งอยู่ใกล้ๆกับโรงเรียนดุสิตวิทยา) ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว
บ้านสังคหะวังตาล |
เมื่อมีฐานะร่ำรวยจึงถือครองกรรมสิทธิที่ดินมากมายในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านโป่ง ต่อมาท่านก็ได้ย้ายมาอาศัยที่บ้านโป่ง ประมาณปี พ.ศ.2470 โดยปลูกคฤหาสน์ " บ้านสังคหะวังตาล " หลังใหญ่ริมทางรถไฟ
สมัยก่อนนั้นจะมีช้างลากซุง มีคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ผ่านข้างบ้านหลวงสิทธิฯ หน้าบ้านจะมีสะพานเล็กๆเรียกว่าสะพานหลวงสิทธิฯ ซึ่งได้ขยายให้กว้างขึ้น ปัจจุบันสะพานนี้ก็ยังอยู่หน้าบ้านหลวงสิทธิ
ช่วงฤดูน้ำขึ้น น้ำจะไหลหลากเอ่อล้นเข้ามาในคลอง ไหลออกไปตามคลองข้างทางรถไฟ ผ่านหน้าวัดนักบุญยอแซฟ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ไปจนถึงคลองบางตาล ส่วนอีกทางก็ไหลไปออกทุ่งนาซึ่งอยู่ด้านหลังบ้านหลวงสิทธิฯ สภาพทุ่งนาในบ้านโป่งปัจจุบันหาดูได้ยาก ถ้ามีก็อยู่ไกลตัวเมืองออกไป ช่วงเวลาน้ำมามาก ชาวบ้านซึ่งอยู่บริเวณนั้นจะนำยอมาดักจับปลากัน
ส่วนสะพานหลวงสิทธิฯจะมีลูกเล็กเด็กแดง กระโจนน้ำเล่นเป็นที่สนุกสนาน เราไม่มีโอกาสได้เห็นภาพที่น่ารักแบบนี้อีกแล้ว ปัจจุบันคลองข้างทางรถไฟผ่านวัดนักบุญยอแซฟ โรงเรียนสารสิทธิ์ โดนถมหมดแล้ว ไม่เหลือความเป็นคลองให้เห็น
"บ้านสังคหะวังตาล" หรือ "บ้านหลวงสิทธิ์" เป็นอาคารเก่าแก่ที่สวยงาม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 จนเป็นที่หมายตาของบรรดาผู้สร้างละคร และภาพยนตร์ และได้ยกกองถ่ายมาถ่ายทำหลายเรื่อง ที่ดังมากที่สุดคือเรื่อง "ลอดลายมังกร" จากนั้นก็มีเรื่อง "คู่กรรม" และล่าสุดเรื่อง "สี่แผ่นดิน"
ขบวนแห่ศพของคุณสุกานดา วังตาล ผ่านถนนทรงพล กลางเมืองบ้านโป่ง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เจ้าของภาพ : มนัส-วรนุช พงษ์วัฒนา |
"นายกิมเลี้ยง วังตาล" หรือ "หลวงสิทธิเทพการ" ท่านได้บรรดาศักดิ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จซ้อมรบในกิจการเสือป่าที่ค่ายหลวงบ้านโป่งหลายครั้ง จำเป็นต้องสร้างค่ายซ้อมรบ และต้องอาศัยผู้คนจำนวนมากในการสร้างค่ายซ้อมรบให้ทันเวลาที่กำหนด หลวงสิทธิฯ ท่านสามารถเกณฑ์คนงานสร้างค่ายได้ทันกำหนดเวลา จึงได้รับความดีความชอบ โปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์พร้อมกระบี่ เป็น "หลวงสิทธิเทพการ"
หลวงสิทธิฯมีบุตรและธิดาหลายคน บุตรชายของท่านคนหนึ่งชื่อ คุณวินิจ วังตาล เป็น ส.ส.จังหวัดราชบุรี คนแรกที่เป็นชาวบ้านโป่ง เมื่อหลวงสิทธิฯเสียชีวิตลง ได้จัดงานตั้งศพไว้ที่บ้านมีผู้คนมาร่วมงานสวดศพมากมาย ทำพิธีแบบคาทอลิก เนื่องจากท่านเป็นคริสตังโดยกำเนิด
วันที่เคลื่อนศพไปบรรจุยังสุสานวัดดอนกระเบื้อง ผู้คนจากทั่วสารทิศไปร่วมงานมาก จนรถหัวขบวนอยู่ที่วัดดอนกระเบื้องแล้ว ท้ายขบวนยังอยู่ที่ตลาดบ้านโป่งอยู่เลย เมื่อเสร็จพิธีแล้วมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน สำหรับผู้ที่มาร่วมพิธีหลายร้อยโต๊ะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นงานศพเจ้าแรกหรือเปล่าในขณะนั้นที่มีการเลี้ยงโต๊ะจีนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ คือเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว คงเหลือแต่ความทรงจำสำหรับผู้ที่ไปร่วมงานในวันนั้นและนำมาเล่าสู่ให้ลูกหลานได้ฟังกัน
ผมได้ดำเนินการค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงสิทธิเทพการ ต่อ ก็ไปพบในกระทู้ของ http://www.nurnia.com/ ซึ่ง Post โดยคุณที่ใช้ชื่อว่า noi เมื่อ 21 ก.พ.2551 เกี่ยวกับ คุโณปการของหลวงสิทธิเทพการ (กิมเลี้ยง วังตาล) ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับ การมอบที่ดินสร้างโรงเรียนอนุบาลลูกแกประชาชนูทิศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ศาลาพักผ่อนชั่วนิรันดร ของหลวงสิทธิเทพการ ณ สุสานวัดนักบุญคามีแอล ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี |
"โรงเรียนอนุบาลลูกแกประชาชนูทิศ ตั้งอยู่เลขที่ 47 หมู่ 7 เขตเทศบาลตำบลลูกแก ต.ดอนขมิ้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ก่อตั้งเมื่อ 1 กรกฏาคม พ.ศ.2466 เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน และได้ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนวัดลูกแก”
ต่อมามีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น นายกิมเลี้ยง วังตาล ได้ยกที่ดิน 2 ไร่ 30 ตารางวา อยู่ในหมู่ 7 ต.ดอนขมิ้น (ปัจจุบันคือ บริเวณที่ตั้งเทศบาลตำบลลูกแก) ให้สร้างอาคารเรียนเป็นเอกเทศ จึงได้ย้ายจากศาลาวัด เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2475 และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประชาชนูทิศ ต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนขมิ้น(ลูกแกประชาชนูทิศ) และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น โรงเรียนบ้านดอนขมิ้น แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียก “โรงเรียนไทย” เนื่องจากขณะนั้นมีโรงเรียนจีนอีกแห่งชื่อ "ฮั้วมิน"
ต่อมานักเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาคารเรียนเพียงหลังเดียวไม่พอเรียน คณะกรรมการศึกษาและครูใหญ่จึงได้ติดต่อขอความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสท่านพระครูจริยภิรัต(โป๊ะ) ขอที่ดินของวัดลูกแกสร้างอาคารเรียน ซึ่งท่านเจ้าอาวาสเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะส่งผลถึงศาสนาในอนาคต จึงอนุญาตให้สร้างในที่ของวัดได้
ทางโรงเรียนได้ปลูกอาคารแบบ 004 ขนาด 10 ห้องเรียน และเปิดใช้ทำการสอนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2510 แต่นักเรียนอีกส่วนหนึ่งยังคงเรียนที่อาคารหลังเดิม และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนวัดลูกแก(ลูกแกประชาชนูทิศ)” ในการเปิดทำการสอนโรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองมากขึ้น ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โรงเรียนจึงขยายชั้นเรียน และเปิดทำการสอนในระดับชั้น อนุบาลถึงประถมศึกษาตอนปลาย และในปี พ.ศ.2534 ทางสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาได้อนุมัติให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดทำการสอนในระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จำนวน 41 ห้องเรียน มี นักเรียน ทั้งหมด 1,375 คน คณะครู 60 คน"
ผมคิดว่าสักวันหนึ่ง ผมคงจะต้องไปสืบค้นหาประวัติของท่านโดยละเอียดอีกครั้ง ที่ "บ้านสังคหะวังตาล" ไม่รู้ว่าบรรดาลูกหลานของท่านจะอนุญาตหรือไม่...แต่ก็ต้องลองดู...
ที่มา :
-สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2547). ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ "เครือญาติ" มอญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. (หน้า 144-145)
-ชาวบ้านโป่งรุ่นพ่อ. (2547). เล่าขานตำนานบ้านโป่ง. [Online]. Available : http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=56&action=view. [2553, สิงหาคม 20].
-noi. (2548). ประวัติ : หลวงสิทธิเทพการ กิมเลี้ยง วังตาล. [Online]. Available : http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=56&action=view. [2553, สิงหาคม 20].
-สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2547). ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ "เครือญาติ" มอญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. (หน้า 144-145)
-ชาวบ้านโป่งรุ่นพ่อ. (2547). เล่าขานตำนานบ้านโป่ง. [Online]. Available : http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=56&action=view. [2553, สิงหาคม 20].
-noi. (2548). ประวัติ : หลวงสิทธิเทพการ กิมเลี้ยง วังตาล. [Online]. Available : http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=56&action=view. [2553, สิงหาคม 20].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น