วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

นายอุดม สมพร..บุคคลดีเด่นของชาติ


นายอุดม สมพร เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2485 ที่บ้านเลขที่ 46 บ้านไร่ต้นมะม่วง(หมู่ 13 เดิม) ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรนายเนียมและนางชวา สมพร สมรสกับ น.ส.มะลิ เอื้อนอาจ มีบุตรสาว จำนวน 2 คน
ในด้านการศึกษา ท่านเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแคทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2494 เข้ารับการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ.2498 เข้ารับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี ในปี พ.ศ.2506 เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2515 และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2518
ผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทยมีมากมายหลายประการด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่
  • เป็นผู้ดำเนินการโครงการสร้างศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีขึ้นที่บริเวณวัดแคทราย ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยใช้เป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจกและศูนย์วิชาการเกี่ยวกับผ้าจก ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าจก ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวไทยวนใน จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้ร่วมจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี ขึ้น จำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 1 วัดคูบัว ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 2 วัดนาหนอง ต.ดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี หน่วยที่ 3 วัดรางบัว ต.รางบัว อ.จอมบึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ฝึกหัดทอผ้าจก และจำหน่ายศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าจกให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
  • เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมฟื้นฟูศิลปผ้าจกไทยวนราชบุรี ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน จ.ราชบุรีและจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
  • เป็นผู้จัดทำหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.2538 ประเภทวิชาศิลป สาขาศิลปหัตถกรรม ให้แก่กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้แก่วิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี
  • เป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนการสอนการฝึกหัดทอผ้าจกด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (HAND-HI-TECH) ให้แก่นักเรียนทอผ้าระบบทวิภาคี
  • เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มผู้สนใจวิชาชีพทอผ้าจกเพื่ออนุรักษ์ศิลปผ้าจกและพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนใน จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้สร้างกี่ทอผ้าพุ่งกระสวยด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลกไว้ในศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรี
  • เป็นผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อมอบให้จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
  • เป็นผู้จัดให้มีการทอผ้าจกรวมลาย "จกภูษา กาญจนาภิเษก" เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสครองราชย์เป็นปีที่ 50 พ.ศ.2539
เกียรติคุณและรางวัลที่ท่านได้รับเกี่ยวกับงานด้านการอนุรักษ์มรดกไทย ที่สำคัญ ได้แก่
  • ในปี พ.ศ.2529 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของชมรมราชบุรีสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร
  • ในปี พ.ศ.2533 ได้รับประกาศนียบัตรขอบคุณในฐานะผู้มีอุปการะคุณจากสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับรางวัลพระราชทานที่ 1 ประเภทผ้าไหมลายพื้นบ้าน ในการประกวดที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ในปี พ.ศ.2534 ได้รับประกาศเกียรรติคุณจากกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของชาวไทยยวนราชบุรี
  • ในปี พ.ศ.2536 ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดผ้าซิ่นตีนจก จากคณะกรรมการจัดงานวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ราชบุรี ได้รับประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเป็นนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.2536 จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ในฐานะผู้มีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย และได้รับพระราชทานรางวัลดีเด่นในการประกวดผ้าประเภทที่ 1 ผ้าโบราณ และรางวัลชมเชยในการประกวดผ้าประเภทที่ 2 ผ้าตีนจก จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 12 สิงหาคม 2536
  • ในปี พ.ศ.2537 ได้รับเกียรติบัตรจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะครูอาจารย์ผู้ปฏฺบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชนในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ให้แก่องค์การช่างเทคนิคในอนาคตแห่งประเทศไทย
  • ในปี พ.ศ.2541 ได้รับการประกาศเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาล สาขาศฺลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าเป็นบุคคลแรกของสาขา ทะเบียนเลขที่ 31/2541 และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2541 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิคนไทย ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 และได้เข้ารับโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2543
เกียรติประวัติของท่าน ดร.อุดม สมพร ยังมีอีกขณะนี้ ผู้จัดทำกำลังรวบรวมเพิ่มเติมอยู่
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑ์สถานแห่วชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 258-259)
อ่านต่อ >>

ครูรวม พรหมบุรี ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง


นายรวม พรหมบุรี เกิดที่บ้านปรก ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2455 เป็นบุตรนายเลื่อง นางตี้ พรหมบุรี ปู่ชื่อขำ รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพรหมบุรี ย่าชื่อ พั้ง ตาชื่ออยู่ ยายชื่อกระติก มีพี่น้อง 3 คน คือ พล.ต.ต.เสวก, นายชาญยุทธ และนายพิชัย พรหมบุรี
จบการศึกษชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดช่องลม อ.เมือง จ.ราชบุรี เริ่มเรียนดนตรีไทยเมื่ออายุราว 8 ปี จากสำนักดนตรีไทยวัดช่องลม และต่อมาได้ศึกษาเพิ่มเติมจากหลวงชาญ เชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากปี่พาทย์มอญกับวงดนตรีไทย คณะครูสุ่ม ดนตรีเจริญ ใกล้วัดสระเกศ จนมีความสามารถเฉพาะตัวในการตีระนาดเป็นอย่างดี อายุ 17 ปี ก็ถวายตัวเป็นมหาดเล็กที่วังของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่ที่วังลดาวัลย์ จนถึงปี พ.ศ.2481 จึงกลับมาอยู่บ้านเดิมที่ จ.ราชบุรี และประกอบอาชีพดนตรีไทย ในนาม "รวมศิษย์บรรเลง" ตลอดมา
นายรวมอุปสมบทที่วัดช่องลมเป็นเวลา 1 พรรษาและต่อมาได้สมรสกับ นางเพื้อน คงสว่าง มีบุตรธิดา 6 คน คือ
1.นางสุภา สันดุษฎี
2.นางรัตนา คันธวะโร
3.นางองุ่น ครุฑสิงห์
4.ร.ต.ต.ศิริเวช พรหมบุรี
5.นายอุดมศักดิ์ พรหมบุรี
6.นายจิระวุธ พรหมบุรี
นอกจากนั้น นายรวม พรหมบุรี ยังได้สมรสกับ น.ส.แฉล้ม จันทรสวัสดิ์ มีธิดา 1 คน คือ น.ส.อุไร พรหมบุรี
นายรวม พรหมบุรี ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2529 สิริอายุรวม 74 ปี และในวันพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย.2529
ความทรงจำบุญยง-บุญยัง เกตุคง "วงการนาฎศิลป์และดนตรีไทยเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เอ่ยชื่อ "พี่รวม พรหมบุรี" รับรองว่าบรรดาศิลปินทั้งในกรุงเทพฯ และแถบจังหวัดใกล้เคียงย่อมรู้จักกันดีทั่วไป เพราะพี่รวมเป็นนักดนตรีที่ทุกคนต่างก็ให้ความเคารพนับถือยกย่องน้ำใจโอบอ้อมอารี ที่ท่านมีต่อคนในวงการนี้มาโดยตลอด"

นายเผือก นักระนาด คนระนาดที่ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งก็ยังเอ่ยปากว่า "ถ้าถูกจับให้เข้าวงปี่พาทย์ตีประชันกับนายรวม เมื่อไรก็หนักใจ เห็นจะต้องระวังให้มาก"
นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล "ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 (13-20 พ.ค.) ที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน ขณะรับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำที่สนามหญ้าข้างพระตำหนักเปี่ยมสุข ครูรวมเอ่ยขึ้นว่า "นานเหลือเกินแล้วไม่ได้เข้าวัง ไม่คิดว่าวันนี้จะได้มาถึงที่นี่" ครูกล่าวพร้อมด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข วันนั้นเป็นวันที่กรมศิลปากรโดบอธิบดีสมภพ ภิรมย์ พาวงดนตรีของครูรวมไปเข้าเฝ้าถวายตัวและบรรเลงเพลงถวายที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของวงการดนตรีไทย ที่ต้องบันทึกไว้ เพราะนอกจากวงงดนตรีของครูรวมจะได้บรรเลงหน้าพระที่นั่งอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังเป็นวันที่ครูเทียบ คงลายทอง ทูลเกล้าถวายปี่ใน แด่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน"

ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงฯ ในคอลัมน์ "ครูรวม พรหมบุรี ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง" ได้เขียนไว้เป็นตอนๆ น่าศึกษา ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้ ดังนี้
-ราชบุรีเป็นบ้านเกิด
-ไปเป็นเด็กวัด แล้วหัดปี่พาทย์
-ประชันปี่พาทย์ตำนานระนาดแห่งเขางู
-สิ้นบุญหลวงปู่ไปอยู่บ้านพระยาวินัยฯ
-จากราชบุรีสู่กรุงเทพฯ
-ศิษย์เอกหลวงชาญฯ ถวายตัวเข้าวัง
-ชีวิตดนตรีไทยในวังบางคอแหลม
-กลับบ้านปรับวงปี่พาทย์
-อยู่วังใหม่ได้กลับคืนบ้าน
-สอนลูกศิษย์เป็นวิทยาทาน
-ไหว้ครูดนตรีไทยยิ่งใหญ่ทุกปี
-รวมศิษย์บรรเลงถวายหน้าพระที่นั่ง
-เพลงบทสุดท้ายบั้นปลายชัวิต
"เวลาล่วงมาจนย่างเข้าปี พ.ศ.2529 ในเดือนมกราคม ครูได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่โครงการดนตรีไทยในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เดินทางเข้าเฝ้ากราบทูลถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดนตรีไทยร่วมกับครูดนตรีท่านอื่นๆ ที่ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ที่ครูรวมได้รับเป็นครั้งสุดท้ายขณะยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่าความปลื้มปิติที่บังเกิดขึ้นจะช่วยให้สุขภาพร่างกายและจิตใจของครูแจ่มใสขึ้นบ้าง"

เมื่อแล้งเดือนห้าปีนั้น สายน้ำแม่กลองยังคงไหลเอื่อยและแห้งงวดลงกว่าเดิม
ทิวไม้ยืนต้นเรียงรายริมฟากฝั่งต่างสงบนิ่ง ทิ้งใบอย่างเงียบเชียบด้วยสงัดลม
ถัดบ้านท่าเสา จนเหนือคุ้งน้ำวน ก้องกังวานของระนาดเอกมือครู
แว่วเสียงเป็นเพลงโศก และลงเพลงลา ไปแล้วแต่ค่อนดึก
จากหนังสือพิพิธภัณฑสาถนแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี (2544 : 267) กล่าวถึง ครูรวมพหรมบุรี ไว้ว่า ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเล่นดนตรีไทย โดยเฉพาะระนาดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทั้งใน จ.ราชบุรี และ จ.ใกล้เคียง จนได้รับขนานามว่า "ระนาดน้ำผึ้งแห่งลุ่มน้ำมแกลอง" โดยท่านได้หัดเล่นดนตรีไทยตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 ปี จากสำนักดนตรีไทยวัดช่องลม ต่อมาได้เรียนและฝึกหัดเพิ่มเติมกับหลวงเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จนมีความสามารถในการตีระนาดเป็นอย่างดี เมื่ออายุได้ 19 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งมนปี พ.ศ.2481 จึงได้เดินทางกลับมาอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดราชบุรี และตั้งวงปี่พาทย์ในนาม "รวมศิลป์บรรเลง"
จากความที่ท่านมีผีมือในการตีระนาดเป็นเอก จนทำให้อธิบดีกรมศิลปากร(นาวาเอกสมภพ ภิรมณ์ ร.น.) ได้พาวงดนตรีไทยของท่านไปเข้าเฝ้าถวายตัวและบรรเลงเพลงถวายแด่พระยามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ และปัจจุบันนี้ ก็ยังมีผู้สืบทอดคณะดนตรีไทยในนาม "ศิษย์ครูรวม" อยู่
ที่มา :
..................(2529). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายรวม พรหมบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.
มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์.
อ่านต่อ >>

นายพิเชียร เชฎฐะ..ผู้ริเริ่มคิดค้นตุ๊กตาผ้าขนสัตว์


นายพิเชียร เชฎฐะ เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นบุตรของนายจุฑาและนางยุพา เชฎฐะ สมรสกับนางแก้ว เชฎฐะ มีบุตรสาว 2 คน จบการศึกษาระดับปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จาหมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2528 ปัจจุบันรับราชการครู โรงเรียนชุมชนวัดกำแพงใต้ อ.โพธาราม
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการริเริ่มคิดค้นและการเผยแพร่เกี่ยวกับการทำตุ๊กตาผ้าขนสัตว์ให้เป็นที่รูจักอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นอาชีพสำคัญของคนท้องถิ่นที่นำรายได้มาสู่จังหวัดราชบุรี และประเทศไทยปีละหลายล้านบาท โดยท่านกับภรรยาได้ร่วมกันคิดค้นและประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้าขนสัตว์รูปสุนัขมีขนปุกปุยออกขายเป็นอาชีพเสริม เมื่อปี พ.ศ.2528 ปรากฏว่าขายดีมาก จึงได้มีการนำเอาวัสดุต่างๆ มาจัดทำพร้อมหาคนในท้องถิ่นมาฝึกช่วยทำ จนในที่สุด เมื่อมีคนทำเป็นมากขึ้น จึงได้แยกตัวไปทำเองกันมากขึ้น จนส่งผลให้มีการทำกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นอาชีพท้องถิ่นที่สำคัญอาชีพหนึ่งของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน และทำให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รู้จักว่า จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาผ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นอกจากนั้น ท่านยังได้จัดตั้ง "ศูนย์พิเชียรแก้วศูนย์หัตถกรรมท้องถิ่น" ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ผลิตตุ๊กตา ศูนย์วัสดุอุปกรณ์การผลิตตุ๊กตาผ้าทุกประเภท ศูนย์กลางให้ความรู้ในการผลิต และศูนย์กลางการตลาดตุ๊กตาผ้าของชาวบ้านกำแพงใต้ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม
สำหรับงานด้านการเผยแพร่เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการตุ๊กตาผ้านั้น ท่านได้เป็นวิทยากรพิเศษ ให้แก่สถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี มาโดยตลอด รวมทั้งสถาบันการศึกษาและคณะบุคคลต่างๆ ที่ไปศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการผลิตและการจัดการอยู่เสมอ ตลอดจนร่วมมือกับคณะครูในโรงเรียนและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.ราชบุรี ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและเผยแพร่อาชีพสู่ชุมชนเสมอ
นอกจากนั้น สถานีโทรทัศน์หลายช่อง ที่มาถ่ายทำและนำไปออกอากาศเผยแพร่ เป็นต้นว่า ในปี พ.ศ.2529 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "บันทึกเมืองไทย 5 นาที" ในปี พ.ศ.2535 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 ถ่ายทำและออกอากาศใยรายการ "คนไทยวันนี้" และสถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "ไม่ลองไม่รู้" และในปี พ.ศ.2542 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 11 ถ่ายทำและออกอากาศในรายการ "แรงงานไทยในยุคนี้"
ในด้านเกียรติคุณและรางวัลสำคัญที่ท่านได้รับนั้น ในปี พ.ศ.2535 ได้รับรางวัลดีเด่นเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ จากหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ และในปี พ.ศ.2537 ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า จากกระทรวงมหาดไทย
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพนธ์. (หน้า 265-266)
อ่านต่อ >>

นายจวน เครือวิชฌยาจารย์..ภาษาและวรรณกรรม


นายจวน เครือวิชฌยาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2466 ที่บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 4 ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายล้วนและนางเลื่อน เครือวิชฌยาจารย์ เนื่องจากเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ เมื่ออายุได้ 9 ขวบ บิดามารดา จึงให้ศึกษาภาษามอญก่อน โดยเรียนภาษามอญชั้นต้นกับพระอาจารย์วัดม่วง เรียนภาษามอญชั้นกลางกับพระอาจารย์วัดมะขาม และเรียนภาษามอญชั้นปลายที่วัดโพธิ์โสภาราม อ.บ้านโป่ง และได้เรียนบาลีไวยากรณ์จนสามารถแปลพระธรรมบท ได้อย่างแตกฉาน ส่วนการศึกษาภาษาไทยได้เรียนกับพระอาจารย์วัดโพธิ์โสภาราม เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการที่เปิดสอนในพื้นที่แถบนั้น
ต่อมาได้เรียนธรรมศึกษาจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ.2486 และได้เรียนด้วยตนเองจนสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2487 แล้วสอบได้ประโยคครูมัธยม (พ.ม.) เมื่อปี พ.ศ.2512 โดยเข้ารับข้าราชการเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2490 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ชั้นเอกโรงเรียนชุมชนวัดปลักแรด อ.บ้านโป่ง
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้านที่สำคัญคนหนึ่งของ จ.ราชบุรี โดยเป็นบุคคลที่มีความมานะ ใฝ่เรียนรู้ และมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงหลังเกษียณอายุราชการเขียนและแปลงานจากคัมภีร์ใบลานโบราณที่วัดและชุมชนชาวมอญเก็ยรักษาไว้ ที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยรามัญ(มอญ) จากภาษามอญเรียงเป็นภาษาไทย เพื่อให้อนุชนร่นหลังได้ศึกษาและสืบทอดได้ ซึ่งมีผลงานที่สำคัญได้แก่
  • "คัมภีร์โลกสมุตติ" เป็นผลงานแปลจากภาษมอญเป็นภาษาไทย พิมพ์ในหนังสือ "ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง" เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เฉลิมพระเกียรติสมเด้จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535
  • "วัฒนธรรมประเพณีมอญ" เขียนขึ้นจากประสบการณ์และศึกษาค้นคว้าจากผู้รู้ โดยกล่าวถึงประเพณีชาวไทยรามัญ(มอญ) ของจังหวัดราชบุรีที่สำคัญ ตีพิมพ์ในหนังสือ "ท้องถิ่นศึกษา ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านโป่ง" พ.ศ.2536
  • "ปมา-สีสี่ นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ" เป็นผลงานแปลจากต้นฉบับภาษามอญ จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม พ.ศ.2536
  • "ตำราทำนายฝันและนิมิตสังหรณ์สัตว์" เป็นผลงานแปลจากภาษามอญ จัอพิมพ์เผยแพร่โดยพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พ.ศ.2536
  • "วิถีชีวิตชาวมอญ" เป็นผลงานแปลจากภาษามอญ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539
  • "ตำราหมอนวดมอญ" ผลงานแปลจากภาษามอญ จัดพิมพ์เผยแพร่โดย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พ.ศ.2540

นอกจากงานเขียนและแปลแล้ว ท่านยังได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาของประเทศหลายแห่งให้เป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยรามัญ(มอญ) เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฎต่างๆ

สำหรับเกียรติคุณและรางวัลสำคัญที่ท่านได้รับนั้น ท่านเป็นคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง คณะกรรมการสภาวัฒนธรรม อ.บ้านโป่ง ในปี พ.ศ.2537 ได้รับโล่รางวัลบุคคลดีเด่นจากสำนักงานสาธารณสุข อ.บ้านโป่ง กระทรวงสาธารณสุข และในปี พ.ศ.2539 ได้รับเกียรติบัตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่น ชมรมชาวมอญ กรุงเทพมหานคร
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 264-265)
อ่านต่อ >>

พระใบฎีกาแหล้..รักษากระดูกด้วยสมุนไพร


พระใบฎีกาแหล้ อินทว์โส เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2462 ที่บ้านเลขที่ 98 หมู่ 3 ต.ดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นามเดิมว่า แหล้ แก่นศึกษา เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน ของนายเกลี้ยงและนางแปร แก่นศึกษา จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบางลานวิทยาคม ต.ดอนทราย อ.โพธาราม มรณภาพเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2536 โยได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2537
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการศึกษาโรคกระดูกและประสานกระดูกด้วยน้ำมันสมุนไพร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาต่อและประสานกระดูกด้วยน้ำมันสมุนไพรจาก นายปุ่น โพธิ์นวล อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ต.ปลักแรด อ.บ้านโป่ง ได้เข้าช่วยนายปุ่น รักษาผู้ป่วยอยู่เป็นเวลา 4-5 ปี จนได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมทางไสยศาสตร์และต่อประสานกระดูกด้วยน้ำมันสมุนไพร ที่สามารถรักษาผู้ป่วยแทนนายปุ่น ได้
ต่อมาท่านได้อุปสมบทที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทางธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก แล้วได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนด้านปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ประจำสำนักเรียนวัดดอนตูมตลอดมา พร้อมทั้งใช้วิชาแพทย์ที่ได้เล่าเรียนมา ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกจากอุบัติเหตุ จนกิตติศัพท์เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจากสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วยของท่านระหว่างปี พ.ศ.2510-2536 มีผู้มารับการรักษาจากท่านถึงกว่า 68,698 ราย
ด้วยวิธีการรักษาโรคกระดูกและประสานกระดูกด้วยยาสมุนไพรและวัสดุพื้นบ้านอย่างง่าย โดยใช้ไม้ไผ่เพียงสองอันแทนเฝือกของการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่วงการแพทย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมกระดูก จนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อาราธนาท่านไปให้ความรู้และวิธีการรักษาถึง 2 ครั้ง และมีแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์เข้าร่วมในแต่ละครั้งกว่า 200 คน
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 264).
อ่านต่อ >>

พระครูวิทิตวรเวช..นักอนุรักษ์ยาสมุนไพร


พระครูวิทิตวรเวช เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2470 ณ ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี นามเดิมว่า สละ เปลี่ยนสี เป็นบุตรของนายลำไยและนางงหวาน เปลี่ยนสี จบการศึกษาอนุปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักธรรมชั้นเอกจากสำนักวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดบางแพ และเจ้าคณะตำบลบางแพ-หัวโพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี
ท่านนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการอนุรักษ์ยาสมุนไพรไทยแบบโบราณ ที่มีความสามารถโดดเด่นและเป็นที่เคาระนับถือของประชาชนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง โดยภายในบริเสณวัดได้ปลูกสมุนไพรไม่น้อยกว่า 300 ชนิด ในระยะแรกเริ่ม ท่านได้ศึกษาพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แล้วศึกษาจากตำรายาแพทย์แผนโบราณที่มีผู้เขียนเอาไว้ เพื่อดูสรรพคุณในด้านการรักษาโรคของแต่ละชนิด หลังจากนั้นจึงได้เริ่มใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตราบจนเท่าถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นท่านยังได้จัดตั้ง ชมรมแพทย์แผนไทยวัดท่าราบขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทย โดยเปิดสอนในวันอาทิตย์ และตั้งชมรมอนุรักษ์สมุนไพรไทยวัดท่าราบขึ้นอีกด้วย ซึ่งท่านได้รับเป็นประธานชมรม
สำหรับในด้านการเผยแพร่นั้น ท่านได้จัดพิมพ์เอกสารและตำราการใช้สมุนไพรรักษาโรคภัยต่างๆ แจกจ่ายแก่ผู้สนใจเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา ปีละกว่า 20,000 เล่ม และเขียนบทความเรื่องสมุนไพรไทยลงเผยแพร่ในเอกสารต่างๆ เป็นประจำ
ด้วยความที่ท่านเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการอนุรักษ์สมุนไพรไทยคนสำคัญคนหนึ่งในวงการแพทย์แผนโบราณ ท่านจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณเสมอมา จากหลายหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่
  • ปี พ.ศ.2529 ได้รับโล่พระราชทานในฐานะสนับสนุนหลักสูตรพิเศษโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร วัดท่าราบ อ.บางแพ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2529
  • ปี พ.ศ.2530 ได้รับวุฒิบัตรในการอบรมวิทยาการโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร หอประชุมโรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2530
  • ปี พ.ศ.2537 ได้รับเข็มเครื่องหมายมูลนิธิอัฎฐมราชานุสรณ์ ในฐานะที่เสียสละเวลาเขียนแนะนำยาสมุนไพรในนิตยสาร ม.ส.ท.โดยไม่คิดค่าเขียน ตั้งแต่ พ.ศ.2515 จนถึงปัจจุบัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537
  • ปี พ.ศ.2540 ได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูจากกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2530

ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 263-264).

อ่านต่อ >>

นายอ๊อด มีสกุล..สนับสนุนจรรโลงวัฒนธรรม

นายอ๊อด มีสกุล เกิดเมื่อปี พ.ศ.2464 ที่ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี เป็นพ่อเพลงประจำถิ่นบ้านโพหัก ซึ่งเป็นถิ่นเล่นเพลงพื้นบ้านของ จ.ราชบุรี ซึ่งท่านร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพลงโอก เพลงสงคอลำพวน เพลงแห่นางแมว และเพลงฉ่อย รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมและฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านของโพหักอีกด้วย
ท่านได้รับเชิดชูเกียรติโดยได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนและจรรโลงวัฒนธรรมพื้นบ้าน ครั้งที่ 1 สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 263).
อ่านต่อ >>

นางเหม อินทร์สวาท..กับเพลงพื้นบ้าน


นางเหม อินทร์สวาท เป็นคนพื้นเพเดิมทางบ้านอู่เรือ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ท่านได้หัดเล่นเพลงฉ่อยและเพลงทรงเครื่องมาตั้งแต่อายุได้ประมาณ 11 ปี แล้วต่อมาได้หัดเล่นเพลงปรบไก่ ที่เป็นการเล่นแบบโบราณจนเป็น หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่กับสามีที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี แต่ยังเล่นเพลงตลอดมา
ท่านได้รับเชิดชูเกียรติ โดยได้รับโล่เกียรติยศจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในพิธีเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้าน ครั้งที่ 1 สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 262)
อ่านต่อ >>

พระครูสังฆบริบาล..นักอนุรักษ์หนังใหญ่


พระครูสังฆบริบาล (นพพร อาจิตธมฺโม) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2490 ที่บ้านเลขที่ 85 ตรอกต้นโพธิ์ แขวงสัมพันธ์วงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร นามเดิมว่า นพพร ธรรมนันทาวัฒน์ ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดขนอน เมื่อปี พ.ศ.2532 มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2542
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532 ท่านพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดขนอนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายพระพรเนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2532 ซึ่งในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำริถึงโครงการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอน โดยจะมีการสร้างหนังใหญ่ชุดใหม่ สำหรับใช้แสดงแทนหนังใหญ่ชุดเก่าที่ชำรุด แล้วนำหนังใหญ่ชุดเก่าไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะได้สร้างอาคารขึ้นในโอกาสต่อไป
ท่านและกรรมการวัดได้สนองพระราชดำริ โดยจัดหาทุนทรัพย์ในการจัดสร้างหนังใหญ่ชุดใหม่ และขอความอนุเคราะห์บุคลากรและมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง เป็นผู้จัดทำจนสำเร็จ มีจำนวนทั้งสิ้น 313 ตัว รวมทั้งมีการสืบสานการแสดงหนังใหญ่ โดยการจัดหาวิทยากรและฝึกนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอนขึ้นจำนวนหนึ่ง ให้เป็นผู้สืบทอดตลอดมาจนเท่าถึงปัจจุบัน ตลอดจนได้ประสานขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในการจัดหางบประมาณมาดำเนินการบูรณะกุฎิเก่าของพระครูศรัทธาสุนทร (กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนผู้ริเริ่มสร้างหนังใหญ่วัดขนอนเป็นชุดแรกให้เป็นอาคารจัดแสดงหนังใหญ่ชุดเก่า จนแล้วเสร็จ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการสืบทอดหนังใหญ่วัดขนอน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ท่านจึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2535 จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยเช้ารับพระราชทานเกี่ยรติบัตรและโล่เชิดชูเกียรติ รวมทั้งเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน 2535
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 261-262).
อ่านต่อ >>

พระครูวรธรรมพิทักษ์..ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง


พระครูวรธรรมพิทักษ์ นามเดิมว่า ลม คชเสนี เกิดที่บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2485 เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง
ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวมอญและชาวไทย ทั้งในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมาก เพราะเป็นพระภิกษุที่เปี่ยมไปด้วยปฏิปทาและมีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ที่จะพัฒนาวัดและหมู่บ้านในท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะการพยายามอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ให้มากที่สุด

ด้วยความที่ท่านสนใจในการเก็บสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่างๆ จึงมีชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวท่านนำมาถวายอยู่เสมอ ซึ่งโบราณศิลปวัตถุที่ท่านเก็บรักษาไว้นั้น มีทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผาไทย และต่างประเทศ คัมภีร์ต้นฉบับตัวเขียนต่างๆ และเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน

เมื่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เก็บรักษาไว้มีจำนวนมากขึ้น ท่านและชาวบ้านม่วงจึงได้ประสานกับภาควิชามนุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และนำโบราณวัตถุศิลปวัตถุเหล่านั้น จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ตามหลักวิชาพิพิธภัณฑสถาน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536

สำหรับเกียรติคุณที่ท่านได้รับนั้น ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น สาขาช่างศิลป์ไทย ประจำปี พ.ศ.2536 จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร และโล่เชิดชูเกียรติเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน พ.ศ.2536
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชุบรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 260-261)

อ่านต่อ >>

ทองอยู่ กำลังหาญ..ทายาทการทอผ้าซิ่นตีนจก


น.ส.ทองอยู่ กำลังหาญ เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2473 ที่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 12 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรีของนายโหมดและนางช้อน กำลังหาญ โดยเป็นบุตรีคนที่ 2 ในจำนวน 6 คน
ท่านได้ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกจากนางช้อน ผู้เป็นมารดา และร่วมกับมารดาฝึกสอนให้แก่หลานๆ เพื่อให้เป็นผู้สืบทอดงานทอผ้าซิ่นตีนจกไว้ มาตั้งแต่มารดายังมีชีวิตอยู่จนเท่าถึงปัจจุบัน ได้เคยเข้าร่วมมารดาเข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายผ้าจกโบราณสำหรับใช้คลุมหรือปกศีรษะนาค แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดสันติการาม (พุพลับ) อ.ปากท่อ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2517 และเคยร่วมกัยมารดา รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมนางช้อนผู้เป็นมารดา และทอดพระเนตรการทอผ้าจกที่บ้านของมารดา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2520 รวมทั้งได้เคยร่วมกับมารดาเข้าไปสาธิตการทอผ้าตีนจกที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม -14 มิถุนายน 2521 ตลอดจนร่วมกับมารดา ในการนำผลงานไปจัดแสดงหรือไปสาธิตการทอผ้ายังสถานที่ต่างๆ หลายแห่งด้วย
เกียรติคุณและรางวัลที่ท่านได้รับเกี่ยวกับงานด้านกาทอผ้าตีนจกนั้น มีมากมายหลายอย่างด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่
  • ปี พ.ศ.2529 ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดผ้าซิ่นตีนจกเนื่องในงานศิลปเมืองราชบุรี วันที่ 12 เมษายน 2529
  • ปี พ.ศ.2534 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมจากคณะอนุกรรมการวัฒนธรรม จ.ราชบุรี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 เมษายน 2534 ได้รับเกียรติบัตรจากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น สาขาการช่างฝีมือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2534
และได้รับการคัดเลือกจากสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ และการช่างฝีมือ ประจำปี พ.ศ.2534
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 260)
อ่านต่อ >>

นางช้อน กำลังหาญ...ผ้าซิ่นตีนจก


นางช้อน กำลังหาญ เป็นคนเชื้อสายไทยวน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2446 ที่บ้านสระโบสถ์ หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรีของนายบดและนางทองคำ เพ็งระแก้ว สมรสกับนายโหมด กำลังหาญ มีบุตรจำนวน 6 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 รวมอายุได้ 90 ปี
ท่านได้ฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจกจากนางคำผู้เป็นมารดา ตั้งแต่เยาว์วัยจนสามารถทอผ้าเองได้ และทออย่างต่อเนื่องโดยตลอด แม้ว่าความนิยมทอผ้าจะขาดหายไปช่วงหนึ่งก็ตาม
ซึ่งแต่เดิมผลงานทอผ้าของท่าน เป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะในละแวกตำบลคูบัวเท่านั้น เนื่องจากเป็นการทอผ้าเพื่อใช้กันเองในครัวเรือน แต่ต่อมาเมื่อท่านได้ใส่ผ้าซิ่นตีนจกไปเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดสันติการาม (พุพลับ) อ.ปากท่อ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2517 และได้มีโอกาสถวายผ้าจกโบราณสำหรับใช้คลุมหรือปกศีรษะนาค แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงรับผ้าจกโบราณอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้มีพระราชดำรัสถามว่า “ผ้านี้ยายทอเองหรือ ตอนนี้ยังทอได้อยู่หรือเปล่า ถ้าทอผ้าได้ก็ขอให้ทอไปเรื่อยๆ “ หลังจากนั้น ท่านได้นำผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นภายหลังจากมีพระราชดำรัสถามในคราวนั้น ไปถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชวังสวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2519
ต่อมาในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานเมืองคูบัว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2520 ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังบ้านของท่าน เพื่อทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการทอผ้าจก
ครั้นต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปรับท่านและนางทองอยู่ กำลังหาญ ผู้เป็นบุตรสาวไปสาธิตการทอผ้าตีนจกที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม -14 มิถุนายน 2521 นับแต่นั้นมา ชื่อเสียงของท่านก็ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผลงานไปปรากฏยังสถานที่ต่างๆ ตลอดจนบางครั้ง ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปสาธิตการทอผ้าด้วย
ด้วยความเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นในด้านการทอผ้าซิ่นตีนจก และได้เดินทางไปสาธิตการทอผ้ายังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง อันส่งผลให้ผ้าซิ่นตีนจก และการทอผ้าที่เป็นมรดกทางศิลปหัตถกรรมล้ำค่าของชาวไทยวนราชบุรี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จึงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ ประจำปี พ.ศ.2533 ที่มา: มโน กลีบทอง (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และ จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 259-260)
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

นายละออ ทองมีสิทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขาหนังใหญ่


นายละออ ทองมีสิทธิ์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2432 ที่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 2 ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนายเลื่องและนางแสง ทองมีสิทธิ์ ภรรยาชื่อนางเลี่ย มีบุตรธิดารวม 9 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2526 รวมอายุได้ 94 ปี
ท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดขนอน เริ่มฝึกหัดเล่นหนังใหญ่มาตั้งแต่ประมาณอายุ 14-15 ปี โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้และฝึกเล่นหนังใหญ่จากนายเพิ่ม ทองมีสิทธิ์ ผู้เป็นอา ขณะเป็นเด็ก ท่านได้ฝึกการเชิดหนังใหญ่และหัดปี่พาทย์ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากพระครูศรัทธาสุนทร (กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ผู้ริเริ่มสร้างหนังใหญ่วัดขนอน ให้หัดพากย์หนัง นับตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงเริ่มพากย์หนัง ซึ่งมีบทพากย์มากมายที่เก็บรวบรวมไว้ในสมุดข่อยที่ท่านเก็บรักษาไว้ ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะหนังใหญ่วัดขนอนคนที่ 5 สืบต่อจากครูอั๋ง นายเพิ่ม ทองมีสิทธิ์ นายโป๊ะ ชะเกตุ และนายนาค รุ่งเรือง ซึ่งท่านได้พากย์หนังและเชิดหนังมาโดยตลอด ตั้งแต่วัยหนุ่ม จนกระทั่งอายุ 90 ปี จึงได้หยุดพากย์ เพื่อหยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว

ด้วยความที่ท่านเป็นหัวหน้าคณะหนังใหญ่วัดขนอน ที่เป็นที่ตั้งนักพากย์และนักเชิดหนังใหญ่ผู้มีความสามารถล้ำเลิศเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วไป จึงได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น สาขาหนังใหญ่ประจำปี พ.ศ.2528


ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 262)


อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจัน ท่านรับราชการอยู่นานถึงสามแผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และรัชกาลพระบาททสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

โดยเริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กหุ้มแพร ตำแหน่งนายไชยขรรค์ ในรัชกาลพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นหลวงสิทธินายเวร จมื่นไวยวรนาถ พระประสาทสิทธิ์ พระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ระหว่าง พ.ศ.2411-2416
ท่านมีความผูกพันกับเมืองราชบุรีมาก และได้ทำงานเกี่ยวข้องกับเมืองราชบุรีมาโดยตลอด ตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ในประมาณปี พ.ศ.2411 ท่านได้พาครอบครัวและข้าราชการเป็นจำนวนมากออกมาพักอาศัยอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยได้สร้างทำเนียบเป็นที่พักและตึกอาคารไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำเนียบที่พักของท่านนี้ ต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี ในช่วงเริ่มแรกที่มีการตั้งมณฑลราชบุรีขึ้น (ปัจจุบันเป็นอาคารสำนักงาน คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงกิจกรรมพิเศษหรือนิทรรศการพิเศษ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี) และท่านได้ถึงแก่พิราลัยที่ราชบุรี
สำหรับภารกิจสำคัญที่ท่านได้ทำประโยชน์ไว้แก่เมืองราชบุรี มีดังนี้
-ในช่วงปี พ.ศ.2409-2411 ได้เป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน โดย พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง และท่านได้ออกทุนทรัพย์ส่วนตัวสมทบอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้นริมคลองดำเนินสะดวกบริเวณหลักห้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกกันปัจจุบันว่า "วัดประสาทสิทธิ์"
-ในปี พ.ศ.2412 ได้สร้างถนนเริ่มจากหน้าเมืองราชบุรีไปถึงเขาวัง แล้วต่อมาได้มีการสร้างขยายไปจนบริเวณเขาแก่นจันทน์ ซึ่งต่อมาถนนสายนี้มีชื่อเรียกกันว่า "ถนนศรีสุริยวงศ์"
-ในปี พ.ศ.2414 ได้สร้างพระราชวังขึ้นบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง) โดยผาติกรรมวัดที่เคยมีอยู่เดิมมาสร้างใหม่ที่บริเวณบ้านไร่ (วัดสัตตนารถปริวัตร ในปัจจุบัน) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมครั้งหนึ่ง หลังจากเสด็จประพาสไทนโยคในปี พ.ศ.2420 เพื่อเสด็จออกรับราชฑูตโปรตุเกสที่เข้ามาถวายพระราชสาส์น
-ในปี พ.ศ.2415 ได้สร้างวัดขึ้นโดยทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อเป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค ภายหลังจากการสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2421 จึงได้มีการกราบบังคมทูลถวายเป็นพระอารามหลวง และขอพระราชทานวิสุงคามสีมา พร้อมทั้งนามวัด ซึ่งพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็ได้ทรงรับเข้าเป็นพระอารามหลวงและพระราชทานวิสุงคามสีมา พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดว่า "วัดศรีสุริยวงศ์วงศาราม" อันปัจจุบันเรียกโดยทั่วไปว่า "วัดศรีสุริยงศ์"
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณพสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 256-257)
ข้อมูลเพิ่มเติม : ชมรมสายสกุลบุนนาค
อ่านต่อ >>

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีนาถ โดยร่วมพระชนกชนนีเดียวกับกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)
พระองค์ได้ทรงรับราชการอยู่สามแผ่นดิน ตั้งแต่ในรัชกาลพดระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และรัชกาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งตลอดเวลาที่ทรงรับราชการได้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุตสาหวิริยะ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ โดยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการพลเรือน นั้น ทรงเคยเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลข สภานายกหอพระสมุด องคมนตรี อภิรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทหารทรงเคยเป็นผู้บังคับกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการทหารทั่วไป เสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารเรือ จเรทหารบก จเรทหารทั่วไป และได้ทรงเคยดำรงตำแหน่งทางลูกเสือเป็นนายกองเอกผู้บังคับการพิเศษกองเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์
สำหรับพระกรณียกิจของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองราชบุรีนั้น ได้ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 4 ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2452 และได้เสด็จยังเมืองราชบุรีในงานฉลองโล่หลวง ในปี พ.ศ.2464 ตลอดจนเมื่อทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ.2444 ได้ทรงตั้งกรมทหารช่างขึ้นที่เมืองราชบุรี พร้อมทั้งได้รับพระราชทานนามค่ายที่ตั้งว่า "ค่ายภาณุรังษี" อันเป็นการนำเอาพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อค่าย เนื่องจากพระองค์เป็นผู้มีความชำนาญและเจนจัดในการช่างหลายประการ
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 256)
อ่านต่อ >>

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม 2423 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา ครองราชย์เป็นระยะเวลา 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 รวมพระชนมายุได้ 45 พรรษา

หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.2453 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งกิจการเสือป่าขึ้นในปี พ.ศ.2454 โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า และสามัญชนทั่วไป มีโอกาสเข้ารับการฝึกหัดอบรมอย่างทหาร เพื่อการเตรียมพร้อมไว้สำหรับการป้องกันรักษาดินแดนไทยในโอกาสที่จำเป็น เพื่อเสริมสร้างกำลังกายและกำลังปัญญาของราษฎรให้ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ มีวินัย เคารพกฏหมาย และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่พลเรือน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ในราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีเกือบทุกปี เพื่อทำการซ้อมรบเสือป่าในท้องที่บ้านโป่ง เจ็ดเสมียน และโพธาราม นอกจากนั้นยังได้เสด็จในโอกาสอื่นอีกหลายครั้ง ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินที่สำคัญและเท่าที่สามารถสืบค้นหลักฐานได้มีดังนี้

-ในปี พ.ศ.2456 มีการเสด็จพระราชดำเนินถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าเดินทางไกลจากพระราชวังสนามจันทร์ไปดอนเจดีย์ กาญจนบุรี และจึงล่องลงมาทางบ้านโป่ง และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังสนามจันทร์ โดยประทับแรมที่ค่ายหลวงบ้านโป่งถึง 5 วัน ส่วนครั้งที่สอง เป็นการเสด็จเพื่อเปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดสัตตนารถปริวัตร

-ในปี พ.ศ.2457 เป็นการเสด็จเพื่อทรงนำพลเสือป่าเดินทางไกลจากพระราชวังรามนิเวศ(วังบ้านปืน) จ.เพชรบุรี ไปราชบุรี เพื่อฝึกประลองยุทธประจำปี

-ในปี พ.ศ.2458 มีการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองราชบุรีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง ส่วนครั้งที่สอง เป็นการเสด็จเนื่องในโอกาสพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้
-ในปี พ.ศ.2461 เป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบประจำปีที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง
-ในปี พ.ศ.2462 เป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบประจำปีที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง เช่นปีก่อน
-ในปี พ.ศ.2464 มีการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบประจำปีที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง ส่วนครั้งที่สองเป็นการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปจังหวัดเพชรบุรี
-ในปี พ.ศ.2466 เป็นการเสด็จเพื่อทรงนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบประจำปีในท้องที่ราชบุรี
-ในปี พ.ศ.2467 เป็นการเสด็จเพื่อการนำสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบประจำปีที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง
ทั้งนี้ สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นอนุสรณ์สำคัญที่ยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวราชบุรี อันเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีเพื่อซ้อมรบเสือป่าได้แก่ "ถนนทรงพล" ซึ่งตัดจากนครปฐมไปยังค่ายหลวงต่างๆ ในท้องที่อำเภอบ้านโป่ง ตำบลเจ็ดเสมียน และอำเภอโพธาราม ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานการสร้างถนนสายสำคัญของถนนสู่ภาคใต้ของประเทศไทยในเวลาต่อมา
ที่มา : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 255-256)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ราชกุมาร พระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2396 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2411 เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา ครองราชย์เป็นระยะเวลา 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 รวมพระชนมายุได้ 68 พรรษา

จากหลักฐานเท่าที่สืบค้นได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรี ถึง 10 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2414 เป็นการเสด็จเขาวังครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดที่บ่งบอกถึงการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแต่อย่างใด

ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.2416 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งแรก ซึ่งตามหลักฐานในโครงการนิราศที่พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นสำนวนของผู้ตามเสด็จชื่อ ท้าวสุภัตติการภักดี(นาก) ได้มีการเสด็จประทับแรมในท้องที่เมืองราชบุรี ถึง 3 คืน แต่ก็ไม่ปรากฏการกล่าวถึงว่า เสด็จพระราชดำเนินไปสถานที่ใด หรือบำเพ็ญพระราชกรณียกิจใดบ้าง
ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.2420 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่สอง โดยเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีและประทับแรมที่พลับพลาโพธารามและพระราชวังบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง) ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้น เพื่อเสด็จออกรับราชฑูตโปรตุเกตุที่เข้าเฝ้า ณ พระราชวังบนเขาสัตตนารถ (เขาวัง)
ครั้งที่สี่ ในปี พ.ศ.2431 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่สามโดยเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีและประทับแรมที่พลับพลาหลุมดิน ระหว่างที่เสด็จประทับแรม ได้มีการเสด็จประพาสตลาดโพธาราม เมืองโบราณหลุมดิน วัดมหาธาตุ ตลาดเมืองราชบุรี พระราชวังเก่าเมืองราชบุรี(พระราชวังริมน้ำ) ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี วัดศรีสุริยวงศ์ พระราชวังบนเขาสัตตนารถ(เขาวัง) และเขางู
ครั้งที่ห้า ในปี พ.ศ.2434 เป็นการเสด็จประพาสถ้ำจอมพล และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ไว้บนผนังถ้ำบริเวณทางเข้าด้วย
ครั้งที่หก ในปี พ.ศ.2442 เป็นการเสด็จประพาสถ้ำสาริกา และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จปร."ไว้บนผนังถ้ำบริเวณทางเข้าอีกด้วย
ครั้งที่เจ็ด ในปี พ.ศ.2444 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีเปิดสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง "จุฬาลงกรณ์"



ครั้งที่แปด ในปี พ.ศ.2446 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อนำทหารมาฝึกที่ค่ายหลุมดิน
ครั้งที่เก้า ในปี พ.ศ.2447 เป็นการเสด็จประพาสต้นครั้งแรก อันปรากฏหลักฐานในจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ เป็นจดหมายเหตุนายทรงอานุภาพ หุ้มแพรมหาดเล็กเล่าเรื่องเสด็จประพาสเขียนส่งให้นายประดิษฐ์ ซึ่งการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ ได้ทรงพบกับยายผึ้งและเจ๊กฮวดผู้เป็นบุตรชายที่ถวายการต้อนรับเป็นอย่างดี และเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก
ครั้งที่สิบ ในปี พ.ศ.2452 เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี อันปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขา รวม 4 ฉบับ
ในการเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีแต่ละครั้งนั้น พระองค์มักทรงมีพระราชหัตถเลขาบรรยายถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้ทอดพระเนตรเสมอ ซึ่งเป็นหลักฐานอันดีที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพบ้านเรือนและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงสมัยนนั้นได้เป็นอย่างดี อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ชาวราชบุรีพากันน้อมรำลึกถึงอยู่เสมอ

ที่มา : มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (254-255)
อ่านต่อ >>