วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์


พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช )รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ธิดาพระยาพระยา เวียงในนฤบาล ประสูติ วันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๑๗
การศึกษา พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)แล้วทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูรามสามิ และในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้ทรงเข้าศึกษาภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น เปรียญ )ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ พระองค์ได้เข้าพิธีพระราชโสกันต์ ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๒๗ และทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวิริยา
ลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หลังจากเสร็จพระราชพิธีสมโภชแล้วจึงทรงเสด็จ มาประทับที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๒๘ จึงลาสิกขาเสด็จกลับเข้าประทับในพระบรมมหาราชวัง รวมเวลาที่พระองค์ได้ทรงผนวชทั้งสิ้น ๒๒ วัน ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม อยู่กรุงลอนดอนเป็น เวลา ๓ ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยไครส์ตเชิช แล้วได้ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาตามหลักสูตร ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัย ภายในเวลา ๓ ปี ช่วงขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรุกรานของฝรั่งเศส ในพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้เสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และได้ทรงศึกษากฎหมายไทยทั้งหมดที่หม่อมลัดเลย์ได้พิมพ์ไว้ พระองค์ทรงแตกฉานในกฎหมายไทยและสามารถปฏิบัติราชการได้อย่างคลองแคล้ว
พระราชกรณียกิจ

- เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ทรงมี พระชนมายุได้ ๒๒ พรรษา ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นลำดับที่ ๓ และทรงวางระเบียบศาลยุติธรรมโดยออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (พิจารณาความแพ่ง,พิจารณาอาญา ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ) พระองค์ทรงจัดให้มีการสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นการแพร่หลาย ให้โอกาสบุคคลที่สนใจทั่วไป เข้าศึกษาได้ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นมา - เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นการเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก
- ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมหมื่น โดยมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์
- เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๓ ได้ทรงดำริ จัดตั้งกรมพิมพ์ลายมือขึ้นที่กรงลหุโทษ และได้ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา
- ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวร โดยมีอาการปวดพระเศียร คิดและทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงาน พักรักษาพระองค์
- ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสร็จในกรมฯ กลับรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ และทรงดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียว ก็ได้รับพระบรมราชโองการเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๕ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๖๒ เสด็จในกรมฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี เพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรให้ผู้อื่นได้รับหน้าที่ต่อไป และได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส แต่พระอาการก็หาทุเลาขึ้นไม่ จนกระทั่งในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ เวลา ๒๑.๐๐ น. พระองค์ก็เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส นับพระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา อันนำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก ด้วยเหตุที่ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและนักกฎหมายทั้งปวงเป็นอเนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันจะสุดพรรณนา ทำให้ประชาชนทั่วไป ถวาย พระสมญานามว่า “ พระบิดาและปรมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย ” และเรียกวันที่ ๗ สิงหาคม ของทุกปี ว่าวัน “ รพี ”

คติพจน์ประจำพระองค์
คนเราควรจะให้ แต่ไม่ควรจะขออะไรจากผู้อื่น
ควรกินพอประมาณ ไม่ควรจะมากเกินไปถึงกับท้องกาง
ควรช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เหยียบย่ำ
ควรจะรับใช้ ไม่ควรคิดเป็นนายคน

อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ครูเพลงพยงค์ มุกดา ผู้เกิดบนเรือกลางแม่น้ำแม่กลอง ราชบุรี


พยงค์ มุกดา
นาวาตรีพยงค์ มุกดาพันธ์ หรือ ครูพยงค์ มุกดา
เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เป็นนักร้อง นักแสดง นักแต่งเพลง ที่มีชื่อเสียงจากการเป็นนักแต่งเพลงเป็นจำนวนมาก ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2534 และได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550

พยงค์ มุกดา เป็นชาวจังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของนายแก้ว และนางบุญ มุกดา เกิดบนเรือกลางแม่น้ำแม่กลอง บริเวณตำบลท่าเสา จังหวัดราชบุรี

จบชั้น ป.4 จากโรงเรียนเทศบาลวัดราชนัดดาราม และเข้าสู่วงการจากการเป็นนักร้องวงดุริยางค์กองทัพบก โดยการสนับสนุนของครูจำปา เล้มสำราญ ต่อมาจึงก่อตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองชื่อ วงพยงค์ มุกดา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "วงมุกดาพันธ์" และเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย

ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก เคนเป็นนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ เคยแสดงภาพยนตร์ เช่นเรื่อง เสน่ห์บางกอก, ไซอิ๋ว เคยอยู่วงดุริยางค์กองทัพเรือ เป็นผู้ประพันธ์เพลงมาร์ช เช่น "สหมาร์ชราชนาวี", "มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า", นาวีบลู

ในฐานะนักแต่งเพลง ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงมาร์ช ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "นกขมิ้น" (ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ) "ช่อทิพย์รวงทอง" (ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์) "นางรอง" และ "รักใครไม่เท่าน้อง" (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) "ลูกนอกกฎหมาย" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) "รอพี่กลับเมืองเหนือ" (ขับร้องโดย พรทิพย์ภา บูรกิจบำรุง) "เด็ดดอกรัก" (ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร) และ "ฝั่งหัวใจ" (ขับร้องโดย บุษยา รังสี)

ในปี พ.ศ. 2532 ครูพยงค์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 รางวัล จากเพลง "สาวสวนแตง" (ขับร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ) และ "ล่องใต้" (ขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 3 รางวัล จากเพลง "ยอยศพระลอ" (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) "น้ำตาสาวตก" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) และ "ลูกทุ่งเสียงทอง" (ขับร้องโดย เพชร พนมรุ้ง)

ในปี พ.ศ. 2534 พยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) นอกจากนี้ ลูกศิษย์ของท่านถึง 2 คน ก็ได้รับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ เช่นกัน คือ ชัยชนะ บุญนะโชติ (พ.ศ. 2541) และ ชินกร ไกรลาศ (พ.ศ. 2542)

ในปี พ.ศ. 2551 ครูพยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินอาวุโส รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550

ครูพยงค์ มุกดา ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและไตวายที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 รวมอายุได้ 83 ปี

ภาพยนตร์ที่ได้แสดง
  • เสน่ห์บางกอก (2508)
  • ผู้หญิง 5 บาป (2545)

ที่มา
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. พยงค์ มุกดา. (สืบต้นเมื่อ 6 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พระเทพสุเมธี สุปฏิปันโนราชบุรี


พระเทพสุเมธี สุปฏิปันโนราชบุรี

“รู้จักคำว่าพอดี ถ้าไม่พอก็ไม่ดี ถ้าเกินพอก็เกินดี เราทำพอดี อย่าหย่อน อย่าตึงเกินไป ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิตทุกด้าน” ธรรโมวาทที่พระเทพสุเมธี อธิบดีสงฆ์แห่งวัดศรีสุริยวงศาราม ยึดถือปฏิบัติมาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาสจวบจนถึงกาลปัจจุบัน

พระเทพสุเมธี ผู้ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี ทำให้การศึกษาสงฆ์เจริญรุดหน้ามาโดยตลอด สร้างคุณูปการอันประเสริฐแก่วงการสงฆ์อย่างมากมาย จนได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณสมบัติต่างๆ เป็นที่ยกย่องเชิดชูมากมาย โดดเด่นทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการ ตลอดจนผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร งดงามด้วยการครองตน เปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณและบริสุทธิคุณอย่างยิ่งเป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนอย่างอเนกอนันต์

ปัจจุบัน พระเทพสุเมธี(ไสว วัฑฒโน)สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ฝ่ายธรรมยุตและเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี อัตโนประวัตินามเดิมว่า ไสว ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2474 ปีมะแม ที่หมู่ 1 ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อนายนับและนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวมีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในช่วงเยาว์วัยเข้าเรียน ป.เตรียม ก่อนที่จะมาจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดพเนินพลู ต.บางป่า ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้านตอนนั้นอายุได้เพียง 14 ปี เมื่อเรียนจบได้บอกกับโยมพ่อโยมแม่ว่าจะขอบวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาพระธรรมและอยากทดแทนพระคุณ ท่านจึงได้เข้าพิธีบรรพชาที่วัดตรีญาติ ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี โดยมีพระครูเมธีธรรมานุยุต (เป้ย มันตาสโย) เจ้าอาวาสวัดราฎร์เมธังกร ต.บางป่า เป็นพระอุปัชญาย์

พระเทพสุเมธี ย้อนอดีตช่วงวัยเด็กว่า “ตอนแรกตั้งใจจะบวชเป็นสามเณรชั่วคราวแล้วก็จะไปเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าโยมยายไม่ยอมให้สึก โดยโยมยายบอกว่าให้บวชอย่างนี้ดีแล้ว มองดูเณรสง่าดี ประกอบกับตอนนั้นมีเพื่อนสามเณรที่เรียนนักธรรมอยู่ด้วยกันหลายรูป อาตมาก็เลยเพลินกับการเรียนนักธรรม เรียนบาลี อาตมาชอบทั้ง 2 อย่าง โดยสามารถจบนักธรรมดอกได้ในเวลาไม่นานส่วนบาลีที่จริงชอบ แต่ไม่ได้สอบเพราะสมัยนั้นครูบาลีหายาก ต้องไปขอจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยส่งมา “อยู่แค่พรรษาเดียว ครูบาลีที่ขอไว้ก็กลับไป ซึ่งการเรียนบาลีต้องเรียนติดต่อกัน แต่พอไม่มีครูสอนก็เป็นอันต้องหยุด ยอมรับว่าท้อประกอบกับช่วงนั้นสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนักด้วย” อยู่รับใช้อุปัฏฐากพระศรีธรรมานุศาสตร์(สุมัติเถระ)เจ้าอาวาสวัดตรีญาติจนกระทั่ง พ.ศ.2491 พระศรีธรรมานุศาสตร์ ได้รับพระบัญชาจากพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ราชบุรี ท่านก็ติดตามมาปรนนิบัติรับใช้ด้วย ครั้นเมื่อมาถึงวัดศรีสุริยวงศาราม พบว่าวัดกำลังทรุดโทรมอย่างหนัก เนื่องจากพิษภัยของการทิ้งระเบิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสนาสนะต่างๆ ถูกแรงระเบิดขาดการบูรณะ พระศรีธรรมานุศาสตร์และสามเณรไสวในฐานะลูกศิษย์ ได้อยู่รับใช้และร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาวัด แม้จะมีพระภิกษุในวัดเพียง 5-6 รูป จึงค่อยๆ ทำการบูรณะ จนสภาพเริ่มฟื้นดีขึ้น กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2495 ณ วัดศรีสุริยวงศาราม โดยมีพระศรีธรรมานุศาสตร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมา พระศรีธรรมานุศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอบางแพและอำเภอเมืองราชบุรี พระอาจารย์จึงได้มอบหมายให้พระไสว เป็นพระเลขานุการ คอยติดตามและปฏิบัติศาสนกิจในการสอนนักธรรม ตลอดเวลาท่านได้เห็นและเรียนรู้การเป็นนักปกครองและนักพัฒนาที่ดีจากพระศรีธรรมานุศาสตร์ผู้เป็นพระอาจารย์ กระทั่งปี พ.ศ.2525 พระศรีธรรมานุศาสตร์มรณภาพลง ทำให้ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมือง-อำเภอบางแพ พ.ศ.2526 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวงรูปที่ 2 และเจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรีอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ท่านได้สานงานการพัฒนาต่อจากพระอาจารย์มิได้ย่อหย่อน โดยเฉพาะการบูรณะพระอุโบสถ จัดสร้างศาลาการเปรียญเพื่อให้ประชาชนได้สะดวกในการประกอบงานบุญทางพระศาสนา บูรณะกุฏิหลังเก่าเหมือนเดิม อีกทั้งสร้างหอระฆัง จัดระเบียบพื้นที่ภายในวัดให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะเดิมบริเวณวัดค่อนข้างแคบมาก ประชาชนมาร่วมพิธีทางศาสนาค่อนข้างลำบาก

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2511 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง

พ.ศ.2525 รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมืองและอำเภอบางแพ ฝ่ายธรรมยุต

พ.ศ.2526 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง-อำเภอบางแพ

พ.ศ.2547 เป็นพระอุปัชฌาย์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ฝ่ายธรรมยุต ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอุดมบัณฑิต

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ในราชทินนามที่ พระสิริวัฒนสุธี

พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชวราภรณ์

พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสุเมธี

พระเทพสุเมธี ได้รับการยกย่องให้เป็นพระนักปกครองและนักพัฒนา ท่านได้กล่าวว่า “ในการปกครองไม่มีอะไรยุ่งยากนัก หากแต่ปกครองด้วยความปรารถนาดีมีความเมตตา โดยเฉพาะหลักพรหมวิหาร 4 ที่ต้องใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” “หากมีสิ่งไหนที่ช่วยใครได้ก็ช่วยอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นพระในความปกครองหริญาติโยม สำหรับการปกครองสงฆ์นั้นจะยึดหลักธรรมวินัยที่เคร่งครัดนอกรีตนอกทางไม่ได้ ไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสต้องรักการมีระเบียบวินัย กิจใดพึงปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเข้มงวด ภายใต้คติที่ยึดถือมาตลอดนั่นคือ สอนให้ทุกคนรู้จักคำว่าพอดีนั่นเอง”

พระเทพสุเมธี เป็นผู้นำเป็นพระสงฆ์นักพัฒนาในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่และการสาธารณูปการ ตามลักษณะรูปแบบของการจัดการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ชีวิตสาวนตัวของท่าน เป็นไปอย่างเรียบร้อยมักน้อย สันโดษ ในการบริหารท่านกล้าคิด กล้าทำ เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว ทรงไว้ซึ่งสง่าราศีน่าเคารพยำกรง แต่ในส่วนลึกท่านเป็นคนโอนโยนมีเมตตาปราณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สอดล่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้น้องอย่างดี จึงเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ผู้ใต้ปกครอง เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนอีกรูป
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ร.1 และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)

1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้เคยรับราชการที่ราชบุรีในตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพรบกับพม่าที่บ้านนางแก้ว โดยยกทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่เหนือวัดเขาพระและล้อมบ้านนางแก้วร่วมกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งยกทัพไปตั้งล้อมพม่า ณ ค่ายเขาชะงุ้ม ผลของสงครามครั้งนี้ได้ชัยชนะพม่าแตกพ่ายและจับเชลยเป็นจำนวนมากในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2328 พระเจ้า ปดุง กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีไทย เรียกว่าศึก 9 ทัพ สามารถชนะกองทัพพม่าได้ในครั้งนี้ ได้รบกับพม่าในจังหวัดราชบุรีที่ทุ่งเขางู พ.ศ. 2347 โปรดเกล้าให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช นายทัพไทยไปตีเมืองเชียงแสน และได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่จังหวัดราชบุรี น่าจะอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรีจะเห็นได้ว่าเมืองราชบุรีมีความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ก่อนเสวยราชสมบัติจนกระทั่งครองราชสมบัติแล้ว ชาวราชบุรีรู้สึกภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสรณ์ไว้ ณ เชิงเขาแก่นจันทน์

2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่าผู้หญิงจันกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อประเทศชาติ สำหรับกรณียกิจที่สำคัญกับจังหวัดราชบุรี มีดังนี้
1. พ.ศ.2410 ได้มาที่จังหวัดราชบุรี สร้างทำเนียบและตึกรามไว้หลายหลัง ต่อมาใช้เป็นศาลว่าการมณฑลราชบุรี ศาลาจังหวัดราชบุรี สโมสรวัฒนธรรมราชบุรี
2. เป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน โดยใช้พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 400 ชั่ง และเงินส่วนตัวของท่านเป็นเงิน 1,000 ชั่ง ทำให้มีการติดต่อไปมาทางเรือระหว่างจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม กับกรุงเทพมหานคร สะดวก รวดเร็ว และมีการสร้างวัดริมคลองดำเนินสะดวก ชื่อว่า วัดปราสาทสิทธิ์ อยู่ในตำบลดอนไผ่ ปัจจุบัน
3. สร้างถนนหลังเมือง และถนนเขาวังในเขตตัวเมืองราชบุรี ซึ่งต่อมาถนนเขาวังเรียกชื่อว่า ถนนศรีสุริยวงศ์
4. สร้างพระราชวังบนเขาวังราชบุรี พ.ศ.2413 เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเสด็จประพาส เดิมบนเขาวังเป็นที่ตั้งของวัด ชื่อ วัดเขาสัตนารถ เมื่อสร้างพระราชวังจึงย้ายวัดสัตนารถไปอยู่ที่วัดโพธิ์งาม ต่อมามิได้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนเป็นวัดชื่อว่าวัดเขาวัง ตามสถานที่ที่เคยเป็นวังมาก่อน
อ่านต่อ >>

หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร)

ประวัติ
หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพ็ชร) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2439 ที่จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อ นายโต๊ะ มารดาชื่อ นางกิ๊ว หลวงนิคมคณารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี (ในสมัยก่อนเรียกว่าข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี) คนที่ 25 (พ.ศ.2487–2488)

วุฒิการศึกษา
  • พ.ศ.2450 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนวัดพลับพลาไชย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี สอบได้ประโยคประถมมูล
  • พ.ศ.2453 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส สอบได้ประโยคประถม
  • พ.ศ.2454 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมสมเด็จเจ้าพระยา สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 6
  • พ.ศ.2457 เข้าศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แผนกรัฐศาสตร์) สอบได้จบหลักสูตร
วุฒิการศึกษาหลังจากรับราชการ
  • ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง (รัฐศาสตร์)
  • โรงเรียนฝ่ายการปกครอง
ยศ
  • 20 ธันวาคม พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์ตรี
  • 20 ธันวาคม พ.ศ.2462 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์โท
  • 8 พฤษภาคม พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์เอก
บรรดาศักดิ์
  • 24 ธันวาคม พ.ศ.2463 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนิคมคณารักษ์
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงนิคมคณารักษ์
ตำแหน่ง
  • 1 เมษายน พ.ศ.2460 มหาดเล็กรายงานมณฑลร้อยเอ็ด
  • 15 พฤษภาคม พ.ศ.2461 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอดินแดน (อำเภอโพนทอง) จังหวัดร้อยเอ็ด
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ.2472 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด
  • 20 กรกฎาคม พ.ศ.2474 ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด
  • 15 มิถุนายน พ.ศ.2477 ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดราชบุรี
  • 2 ธันวาคม พ.ศ.2481 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 รักษาการตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด จังหวัดเลย
  • 4 ธันวาคม พ.ศ.2482 ข้าหลวงประจำจังหวัดเลย (พ.ศ.2484 - พ.ศ.2487)
  • 12 ธันวาคม พ.ศ.2487 ข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี (12 ธันวาคม พ.ศ.2487 - 15 มกราคม พ.ศ.2488)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นเมืองราชบุรีเป็นเส้นทางลำเลียงทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นไปมลายูและพม่า ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาโจมตีทิ้งระเบิดที่สะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี หลวงนิคมคณารักษ์ได้ออกไปบัญชาการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัย และได้ตรวจดูสถานที่ที่ถูกระเบิดด้วย ในระหว่างปฏิบัติงานท่านได้ประสบอุบัติเหตุจากระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินแต่ยังไม่ระเบิดทันที ได้เกิดระเบิดขึ้นทำให้ท่าน เสียชีวิต ราษฎรชาวราชบุรีต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก จึงได้มีการแต่งเพลงบรรยายคุณงามความดีของท่านเพื่อแสดงความระลึกถึง

ในระยะเวลาที่หลวงนิคมคณารักษ์เป็นเจ้าเมืองราชบุรี แม้จะเป็นเวลาไม่นานนักแต่ท่านได้ปฏิบัติงานเป็นที่พึงพอใจของราษฎร ไม่ว่าจะเป็นด้านดูแลทุกข์สุขประชาชน ปราบปรามโจรผู้ร้าย รวมถึงด้านการศึกษา โดยสนับสนุนการก่อสร้างอาคารโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ (โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดราชบุรี) ตลอดจนสร้างทางสายราชบุรี – ตำบลห้วยไผ่ ก่อสร้างทางขึ้นเขาแก่นจันทน์ และความดีของหลวงนิคมคณารักษ์ที่ชาวบ้านจังหวัดราชบุรียกย่องสรรเสริญเสมอ คือการมีเจตนาดีต่อประชาชนกับความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของพ่อเมือง

ที่มาข้อมูล
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. บุคคลสำคัญ: หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร). [Online]. Available : https://province.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=3956. [2553 ธันวาคม 27 ].
อ่านต่อ >>

ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

รายพระนาม นาม ของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
1.เจ้าพระยาราชบุรี (เสม วงศาโรจน์) พระเจ้ากรุงธน - รัชกาลที่ 1
2.เจ้าพระยาราชบุรี (แสง วงศาโรจน์) รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2
3.เจ้าพระยาราชบุรี (เนียม วงศาโรจน์) รัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 3
4.เจ้าพระยาราชบุรี (กลั่น วงศาโรจน์) รัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4
5.พระยาอัมรินทรฤาชัย ( กุ้ง วงศาโรจน์) รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5
6.พระยาอัมรินทรฤาชัย (นิ่ม วงศาโรจน์) รัชกาลที่ 5 - พ.ศ. 2440
7.พระยาอัมรินทรฤาชัย (เทียน บุนนาค) 2440 - 2441
8.พระยาจินดารักษ์ (นุด มหานิรานนท์) 2441 - 2442
9.พระยาอัมรินทร์ทรฤาชัย (จำรัส รัตนกุล) 2442 - 2445
10.พระยาสัจจาภิรมย์ ( ชุ่ม อรรถจินดา) 2445 - 2448
11.ม.จ.สฤษดิเดช ชยางกูร 2448 - 2453
12.พระยาประชากิจกรจักร (ทับ มหาเปารยะ) 2453 - 2455
13.พระยาศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทม์) 2455 - 2458
14.พระยาวิชิตสงคราม (สรวง ศรีเพ็ญ) 2458 -2461
15.พระยาศรีมหาเกษตร (ชวน สุนทรานนท์) 2461 - 2464
16.พระยาวิชิตภักดี (รอด สาริมาน) 2464 - 2466
17.พระยาสมุทรศักดารักษ์ ( เจิม วิเศษรัตน์) 2466 - 2467
18.พระยาสุนทรพิพิธ ( เชย สุนทรพิพิธ) 2467 - 2468
19.พระยาอรรถกวี (สงวน อรรถกวีสุนทร) ไม่มีหลักฐาน
20.พระยารามราชภักดี (ม.ล.สวาสดิ์ อิสรางกูร) 2468 - 2477
21.พันเอกพระยารามณรงค์ ( เสงี่ยม สุคนธรักษา) 2477 - 18 มิ.ย. 2482
22.พระนิกรบดี (จอน สาริกานนท์) 18 มิ.ย. 2482 - 20 ม.ค. 2486
23.ขุนธรรมรัตนธุรทร (ธรรมรัตน์ โรจนสุนทร) 20 ม.ค. 2486 - 20 ก.ย. 2487
24.นายอุดม บุญประกอบ 2 พ.ย. 2487 - 12 ธ.ค. 2487
25.หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเหนิดเพชร) 12 ธ.ค. 2487 - 15 ม.ค. 2488
26.นายจรัส ธารีสาร 5 ก.พ. 2488 - 30 มี.ค. 2488
27.พระบำรุงบุรีราช (วิง สิทธิเทศานนท์) 31 มี.ค. 2488 - 15 ก.ค. 2492
28.ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ (สุวงศ์ วัฏฏสิงห์) 2 ก.พ. 2492 - 30 ส.ค. 2493
29.นายแม้น อรจันทร์ 1 ก.ย. 2493 - 8 ม.ค. 2494
30.หลวงอรรถวิภัชน์พจนกร (กรุง อรรถวิภัชน์) 1 เม.ย. 2494 - 8 ม.ค. 2495
31.นายแม้น อรจันทร์ 8 ม.ค. 2495 - 17 ก.พ. 2501
32.นายแสวง ชัยอาญา 17 ก.พ. 2501 - 7 มิ.ย. 2503
33.นายจันทร์ สมบูรณ์กุล 20 ม.ค. 2504 - 30 ก.ย. 2510
34.นายยุทธ หนุนภักดี 1 ต.ค. 2510 - 30 ก.ย. 2514
35.นายจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา 1 ต.ค. 2514 - 30 ก.ย. 2518
36.ร.ต.ต. กร บุญยง 1 ต.ค. 2518 - 30 ก.ย. 2519
37.นายประชุม บุญประคอง 1 ต.ค. 2519 - 30 ก.ย. 2520
38.นายวัชระ สิงคิวิบูลย์ 1 ต.ค. 2520 - 8 มิ.ย. 2522
39.นายปฐม สุทธิวาทนฤพุฒิ 9 มิ.ย. 2522 - 10 ก.ค. 2527
40.นายศักดิ์ โกไศยกานนท์ 10 ก.ค. 2527 - 30 ก.ย. 2531
41.นายพีระ บุญจริง (1 ต.ค. 2531 - 30 ก.ย. 2534)

เหตุการณ์และผลงานสำคัญ

42.ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล (1 ต.ค. 2534 - 30 ก.ย. 2538)
43.นายมานิต ศิลปอาชา (1 ต.ค. 2538 - 30 ก.ย. 2542)
44.นายโกเมศ แดงทองดี (1 ต.ค. 2542 - 30 ก.ย. 2546)

เหตุการณ์และผลงานสำคัญ
45.นายพลวัต ชยานุวัชร (1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2548)
เหตุการณ์และผลงานสำคัญ
46.นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ (1 ต.ค. 2548 - 19 ต.ค. 2551)




















เหตุการณ์และผลงานสำคัญ
47.นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล (20 ต.ค. 2551 - 15 มี.ค.2552)
48.นายสุเทพ โกมลภมร (16 มี.ค. 2552 - 30 ก.ย.2554)

เหตุการณ์และผลงานสำคัญ
49. นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์  (28 พ.ย. 2554 - 30 ก.ย.2556) (ดูประวัติ
ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสงคราม
















เหตุการณ์และผลงานสำคัญ  -ไม่มีข้อมูล-

50.นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์  (1 ต.ค.2556-1 ต.ค.2556) (ดูประวัติ)  
ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการ จ.ตรัง
















เหตุการณ์และผลงานสำคัญ  -ไม่มีข้อมูล-



51. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ (2 ต.ค.2556-30 ก.ย.2557) (ดูประวัติ)
















เหตุการณ์และผลงานสำคัญ  -ไม่มีข้อมูล-


52. นายสุรพล  แสวงศักดิ์ (1 ต.ค.2557-4 เม.ย.2560) (ดูประวัติ)













เหตุการณ์และผลงานสำคัญ  -ไม่มีข้อมูล-



53.นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม (4 เม.ย.2560-30 ก.ย.2560) (ดูประวัติ)
ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย














54.นายชยาวุธ  จันทร (1 ต.ค.2560-30 ก.ย.2563) (ดูประวัติ)
ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย














55.นายรณภพ  เหลืองไพโรจน์ (1 ต.ค.2563-ปัจจุบัน) (ดูประวัติ)













******************************************

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 30 ต.ค.2563
อ่านต่อ >>