วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์


พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช )รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ธิดาพระยาพระยา เวียงในนฤบาล ประสูติ วันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๑๗
การศึกษา พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)แล้วทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูรามสามิ และในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้ทรงเข้าศึกษาภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น เปรียญ )ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ พระองค์ได้เข้าพิธีพระราชโสกันต์ ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๒๗ และทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวิริยา
ลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หลังจากเสร็จพระราชพิธีสมโภชแล้วจึงทรงเสด็จ มาประทับที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๒๘ จึงลาสิกขาเสด็จกลับเข้าประทับในพระบรมมหาราชวัง รวมเวลาที่พระองค์ได้ทรงผนวชทั้งสิ้น ๒๒ วัน ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม อยู่กรุงลอนดอนเป็น เวลา ๓ ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยไครส์ตเชิช แล้วได้ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาตามหลักสูตร ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัย ภายในเวลา ๓ ปี ช่วงขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรุกรานของฝรั่งเศส ในพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้เสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และได้ทรงศึกษากฎหมายไทยทั้งหมดที่หม่อมลัดเลย์ได้พิมพ์ไว้ พระองค์ทรงแตกฉานในกฎหมายไทยและสามารถปฏิบัติราชการได้อย่างคลองแคล้ว
พระราชกรณียกิจ

- เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ทรงมี พระชนมายุได้ ๒๒ พรรษา ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นลำดับที่ ๓ และทรงวางระเบียบศาลยุติธรรมโดยออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (พิจารณาความแพ่ง,พิจารณาอาญา ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ) พระองค์ทรงจัดให้มีการสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นการแพร่หลาย ให้โอกาสบุคคลที่สนใจทั่วไป เข้าศึกษาได้ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นมา - เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นการเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก
- ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมหมื่น โดยมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์
- เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๓ ได้ทรงดำริ จัดตั้งกรมพิมพ์ลายมือขึ้นที่กรงลหุโทษ และได้ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา
- ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวร โดยมีอาการปวดพระเศียร คิดและทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงาน พักรักษาพระองค์
- ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสร็จในกรมฯ กลับรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ และทรงดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียว ก็ได้รับพระบรมราชโองการเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๕ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๖๒ เสด็จในกรมฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี เพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรให้ผู้อื่นได้รับหน้าที่ต่อไป และได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส แต่พระอาการก็หาทุเลาขึ้นไม่ จนกระทั่งในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ เวลา ๒๑.๐๐ น. พระองค์ก็เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส นับพระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา อันนำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก ด้วยเหตุที่ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและนักกฎหมายทั้งปวงเป็นอเนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันจะสุดพรรณนา ทำให้ประชาชนทั่วไป ถวาย พระสมญานามว่า “ พระบิดาและปรมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย ” และเรียกวันที่ ๗ สิงหาคม ของทุกปี ว่าวัน “ รพี ”

คติพจน์ประจำพระองค์
คนเราควรจะให้ แต่ไม่ควรจะขออะไรจากผู้อื่น
ควรกินพอประมาณ ไม่ควรจะมากเกินไปถึงกับท้องกาง
ควรช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เหยียบย่ำ
ควรจะรับใช้ ไม่ควรคิดเป็นนายคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น