พระเทพสุเมธี สุปฏิปันโนราชบุรี
“รู้จักคำว่าพอดี ถ้าไม่พอก็ไม่ดี ถ้าเกินพอก็เกินดี เราทำพอดี อย่าหย่อน อย่าตึงเกินไป ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิตทุกด้าน” ธรรโมวาทที่พระเทพสุเมธี อธิบดีสงฆ์แห่งวัดศรีสุริยวงศาราม ยึดถือปฏิบัติมาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาสจวบจนถึงกาลปัจจุบัน
พระเทพสุเมธี ผู้ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี ทำให้การศึกษาสงฆ์เจริญรุดหน้ามาโดยตลอด สร้างคุณูปการอันประเสริฐแก่วงการสงฆ์อย่างมากมาย จนได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณสมบัติต่างๆ เป็นที่ยกย่องเชิดชูมากมาย โดดเด่นทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการ ตลอดจนผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร งดงามด้วยการครองตน เปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณและบริสุทธิคุณอย่างยิ่งเป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนอย่างอเนกอนันต์
ปัจจุบัน พระเทพสุเมธี(ไสว วัฑฒโน)สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ฝ่ายธรรมยุตและเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี อัตโนประวัตินามเดิมว่า ไสว ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2474 ปีมะแม ที่หมู่ 1 ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อนายนับและนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวมีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในช่วงเยาว์วัยเข้าเรียน ป.เตรียม ก่อนที่จะมาจบชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดพเนินพลู ต.บางป่า ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้านตอนนั้นอายุได้เพียง 14 ปี เมื่อเรียนจบได้บอกกับโยมพ่อโยมแม่ว่าจะขอบวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาพระธรรมและอยากทดแทนพระคุณ ท่านจึงได้เข้าพิธีบรรพชาที่วัดตรีญาติ ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี โดยมีพระครูเมธีธรรมานุยุต (เป้ย มันตาสโย) เจ้าอาวาสวัดราฎร์เมธังกร ต.บางป่า เป็นพระอุปัชญาย์
พระเทพสุเมธี ย้อนอดีตช่วงวัยเด็กว่า “ตอนแรกตั้งใจจะบวชเป็นสามเณรชั่วคราวแล้วก็จะไปเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าโยมยายไม่ยอมให้สึก โดยโยมยายบอกว่าให้บวชอย่างนี้ดีแล้ว มองดูเณรสง่าดี ประกอบกับตอนนั้นมีเพื่อนสามเณรที่เรียนนักธรรมอยู่ด้วยกันหลายรูป อาตมาก็เลยเพลินกับการเรียนนักธรรม เรียนบาลี อาตมาชอบทั้ง 2 อย่าง โดยสามารถจบนักธรรมดอกได้ในเวลาไม่นานส่วนบาลีที่จริงชอบ แต่ไม่ได้สอบเพราะสมัยนั้นครูบาลีหายาก ต้องไปขอจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยส่งมา “อยู่แค่พรรษาเดียว ครูบาลีที่ขอไว้ก็กลับไป ซึ่งการเรียนบาลีต้องเรียนติดต่อกัน แต่พอไม่มีครูสอนก็เป็นอันต้องหยุด ยอมรับว่าท้อประกอบกับช่วงนั้นสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนักด้วย” อยู่รับใช้อุปัฏฐากพระศรีธรรมานุศาสตร์(สุมัติเถระ)เจ้าอาวาสวัดตรีญาติจนกระทั่ง พ.ศ.2491 พระศรีธรรมานุศาสตร์ ได้รับพระบัญชาจากพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ราชบุรี ท่านก็ติดตามมาปรนนิบัติรับใช้ด้วย ครั้นเมื่อมาถึงวัดศรีสุริยวงศาราม พบว่าวัดกำลังทรุดโทรมอย่างหนัก เนื่องจากพิษภัยของการทิ้งระเบิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสนาสนะต่างๆ ถูกแรงระเบิดขาดการบูรณะ พระศรีธรรมานุศาสตร์และสามเณรไสวในฐานะลูกศิษย์ ได้อยู่รับใช้และร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาวัด แม้จะมีพระภิกษุในวัดเพียง 5-6 รูป จึงค่อยๆ ทำการบูรณะ จนสภาพเริ่มฟื้นดีขึ้น กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2495 ณ วัดศรีสุริยวงศาราม โดยมีพระศรีธรรมานุศาสตร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมา พระศรีธรรมานุศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอบางแพและอำเภอเมืองราชบุรี พระอาจารย์จึงได้มอบหมายให้พระไสว เป็นพระเลขานุการ คอยติดตามและปฏิบัติศาสนกิจในการสอนนักธรรม ตลอดเวลาท่านได้เห็นและเรียนรู้การเป็นนักปกครองและนักพัฒนาที่ดีจากพระศรีธรรมานุศาสตร์ผู้เป็นพระอาจารย์ กระทั่งปี พ.ศ.2525 พระศรีธรรมานุศาสตร์มรณภาพลง ทำให้ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมือง-อำเภอบางแพ พ.ศ.2526 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวงรูปที่ 2 และเจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรีอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ท่านได้สานงานการพัฒนาต่อจากพระอาจารย์มิได้ย่อหย่อน โดยเฉพาะการบูรณะพระอุโบสถ จัดสร้างศาลาการเปรียญเพื่อให้ประชาชนได้สะดวกในการประกอบงานบุญทางพระศาสนา บูรณะกุฏิหลังเก่าเหมือนเดิม อีกทั้งสร้างหอระฆัง จัดระเบียบพื้นที่ภายในวัดให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะเดิมบริเวณวัดค่อนข้างแคบมาก ประชาชนมาร่วมพิธีทางศาสนาค่อนข้างลำบาก
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.2511 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม พระอารามหลวง
พ.ศ.2525 รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมืองและอำเภอบางแพ ฝ่ายธรรมยุต
พ.ศ.2526 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม และเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง-อำเภอบางแพ
พ.ศ.2547 เป็นพระอุปัชฌาย์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ฝ่ายธรรมยุต ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอุดมบัณฑิต
พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ในราชทินนามที่ พระสิริวัฒนสุธี
พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชวราภรณ์
พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสุเมธี
พระเทพสุเมธี ได้รับการยกย่องให้เป็นพระนักปกครองและนักพัฒนา ท่านได้กล่าวว่า “ในการปกครองไม่มีอะไรยุ่งยากนัก หากแต่ปกครองด้วยความปรารถนาดีมีความเมตตา โดยเฉพาะหลักพรหมวิหาร 4 ที่ต้องใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” “หากมีสิ่งไหนที่ช่วยใครได้ก็ช่วยอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นพระในความปกครองหริญาติโยม สำหรับการปกครองสงฆ์นั้นจะยึดหลักธรรมวินัยที่เคร่งครัดนอกรีตนอกทางไม่ได้ ไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสต้องรักการมีระเบียบวินัย กิจใดพึงปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเข้มงวด ภายใต้คติที่ยึดถือมาตลอดนั่นคือ สอนให้ทุกคนรู้จักคำว่าพอดีนั่นเอง”
พระเทพสุเมธี เป็นผู้นำเป็นพระสงฆ์นักพัฒนาในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่และการสาธารณูปการ ตามลักษณะรูปแบบของการจัดการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ชีวิตสาวนตัวของท่าน เป็นไปอย่างเรียบร้อยมักน้อย สันโดษ ในการบริหารท่านกล้าคิด กล้าทำ เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว ทรงไว้ซึ่งสง่าราศีน่าเคารพยำกรง แต่ในส่วนลึกท่านเป็นคนโอนโยนมีเมตตาปราณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สอดล่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้น้องอย่างดี จึงเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ผู้ใต้ปกครอง เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนอีกรูป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น