หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพ็ชร) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2439 ที่จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อ นายโต๊ะ มารดาชื่อ นางกิ๊ว หลวงนิคมคณารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี (ในสมัยก่อนเรียกว่าข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี) คนที่ 25 (พ.ศ.2487–2488)
วุฒิการศึกษา
- พ.ศ.2450 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนวัดพลับพลาไชย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี สอบได้ประโยคประถมมูล
- พ.ศ.2453 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส สอบได้ประโยคประถม
- พ.ศ.2454 เข้าศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมสมเด็จเจ้าพระยา สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 6
- พ.ศ.2457 เข้าศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แผนกรัฐศาสตร์) สอบได้จบหลักสูตร
- ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง (รัฐศาสตร์)
- โรงเรียนฝ่ายการปกครอง
- 20 ธันวาคม พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์ตรี
- 20 ธันวาคม พ.ศ.2462 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์โท
- 8 พฤษภาคม พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานยศเป็น รองอำมาตย์เอก
- 24 ธันวาคม พ.ศ.2463 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนิคมคณารักษ์
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงนิคมคณารักษ์
- 1 เมษายน พ.ศ.2460 มหาดเล็กรายงานมณฑลร้อยเอ็ด
- 15 พฤษภาคม พ.ศ.2461 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอดินแดน (อำเภอโพนทอง) จังหวัดร้อยเอ็ด
- 1 พฤษภาคม พ.ศ.2472 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด
- 20 กรกฎาคม พ.ศ.2474 ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด
- 15 มิถุนายน พ.ศ.2477 ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดราชบุรี
- 2 ธันวาคม พ.ศ.2481 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
- 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 รักษาการตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด จังหวัดเลย
- 4 ธันวาคม พ.ศ.2482 ข้าหลวงประจำจังหวัดเลย (พ.ศ.2484 - พ.ศ.2487)
- 12 ธันวาคม พ.ศ.2487 ข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี (12 ธันวาคม พ.ศ.2487 - 15 มกราคม พ.ศ.2488)
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นเมืองราชบุรีเป็นเส้นทางลำเลียงทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นไปมลายูและพม่า ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาโจมตีทิ้งระเบิดที่สะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี หลวงนิคมคณารักษ์ได้ออกไปบัญชาการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัย และได้ตรวจดูสถานที่ที่ถูกระเบิดด้วย ในระหว่างปฏิบัติงานท่านได้ประสบอุบัติเหตุจากระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินแต่ยังไม่ระเบิดทันที ได้เกิดระเบิดขึ้นทำให้ท่าน เสียชีวิต ราษฎรชาวราชบุรีต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก จึงได้มีการแต่งเพลงบรรยายคุณงามความดีของท่านเพื่อแสดงความระลึกถึง
ในระยะเวลาที่หลวงนิคมคณารักษ์เป็นเจ้าเมืองราชบุรี แม้จะเป็นเวลาไม่นานนักแต่ท่านได้ปฏิบัติงานเป็นที่พึงพอใจของราษฎร ไม่ว่าจะเป็นด้านดูแลทุกข์สุขประชาชน ปราบปรามโจรผู้ร้าย รวมถึงด้านการศึกษา โดยสนับสนุนการก่อสร้างอาคารโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ (โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดราชบุรี) ตลอดจนสร้างทางสายราชบุรี – ตำบลห้วยไผ่ ก่อสร้างทางขึ้นเขาแก่นจันทน์ และความดีของหลวงนิคมคณารักษ์ที่ชาวบ้านจังหวัดราชบุรียกย่องสรรเสริญเสมอ คือการมีเจตนาดีต่อประชาชนกับความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของพ่อเมือง
ที่มาข้อมูล
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. บุคคลสำคัญ: หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร). [Online]. Available : https://province.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=3956. [2553 ธันวาคม 27 ].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น