วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2508 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 7 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2514 พระชนมายุ 74 พรรษา

พระประวัติ
พระองค์มีพระนามเดิมว่า จวน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2440 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี พระชนมายุ 14 พรรษา ได้ไปศึกษาอยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทัดโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) ที่วัดเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี พระชนมายุ 16 พรรษา ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรม กับพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺคสลฺโล) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • พ.ศ.2457 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้เป็นบรรณาธิการ หนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์คำประพันธ์ต่างๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น
  • พ.ศ.2460 ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ ในปีเดียวกันนี้ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม 3 ประโยค
  • พ.ศ.2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท
  • พ.ศ.2462,2464 และ 2465 สอบได้เปรียญธรรม 4,5 และ 6 ประโยค ตามลำดับ
  • พ.ศ.2466 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
  • พ.ศ.2467,2470 และ 2472 สอบได้เปรียญธรรม 7,8 และ 9 ประโยค ตามลำดับ
พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้
  • พ.ศ.2476 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี
  • พ.ศ.2477 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ
  • พ.ศ.2478 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที เป็นประธานกรรมการบริหาร ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
  • พ.ศ.2479 เป็นกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่
  • พ.ศ.2482 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
  • พ.ศ.2485 เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
  • พ.ศ.2486 เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส
  • พ.ศ.2488 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
  • พ.ศ.2489 เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ฯ
  • พ.ศ.2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภณ
  • พ.ศ.2494 เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 1
  • พ.ศ.2499 ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
  • พ.ศ.2503 เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 2
  • พ.ศ.2505 เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
  • พ.ศ.2506 เป็นกรรมการเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ
ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

พระกรณียกิจด้านต่างๆ

ด้านการศึกษา ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัญ จากการที่ได้ ตรวจชำระ พระไตรปิฎกบางปกรณ์ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน
  • พ.ศ.2470 เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
  • พ.ศ.2471 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลี ประโยค 4-5-6
  • พ.ศ.2476 เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามงกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่ ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท และ พุทธศาสนสุภาษิต กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุ กรรมการ อุปนายกและนายกกรรมการมหามงกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์
ด้านการต่างประเทศ เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้นๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2504


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
งานเผยแผ่พระศาสนา ได้ทรงดำเนินการมาโดยตลอดไปรูปแบบต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้
  • พ.ศ.2476 ทรงร่วมกับคณะมิตรสหาย ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พุทธสมาคม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษา
  • พ.ศ.2477 เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
  • พ.ศ.2479 เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก
  • พ.ศ.2497 เป็นประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ
งานพระนิพนธ์
  • พ.ศ.2469 ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา
  • พ.ศ.2482 ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถา แทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา
  • ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า 100 เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น
  • มีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา
พระอวสานกาล
โดยปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระพลานมัยดีตลอดมา ไม่ประชวรถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่มีพยาธิเบียดเบียนเป็นครั้งคราว ต้องเสด็จไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล 2-3 ครั้ง คือ ผ่าตัดไส้เลื่อน 1 ครั้ง ผ่าตัดโพรงจมูกครั้ง 1 ผ่าตัดกระเพาะ เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่อีกครั้ง 1 ภายหลังการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าพระสุขภาพเป็นปกติ แต่ทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าความจำเลือนไปบ้าง และทรงปรารภว่า “ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ จึงถูกผ่าตัดอย่างนี้”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 เวลา 10.05 น.

ที่มา
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. ข้อมูลจังหวัด : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ . [Online]. Available :
https://province.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsID=60336&keyword=ราชบุรี. [2553 ตุลาคม 29 ].
อ่านต่อ >>

ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร

ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร เป็นคนดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2474 - 18 พฤษภาคม 2552 (เสียชีวิตด้วยโรคชรา) สิริอายุ 78 ปี

ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร
การศึกษา
  • จบมัธยมศึกษา โรงเรียนโพธาราม ราชบุรี
  • จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 3 สอบได้ที่ 1 ของรุ่น
  • จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • จบปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากโรงเรียนการทูตเฟลทเชอร์ จากมหาวิทยาลัยทัฟต์
  • จบปริญญาโท-เอกด้านรัฐประศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา ที่ AUTONOMNUS UNIVERSITY OF GUUNDALUJARO สาธารณรัฐเม็กซิโก (พ.ศ.2530)
  • ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา (3 ธ.ค.2547)
หน้าที่การงาน
  • อาจารย์โท
  • พ.ศ.2510-2516 คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พ.ศ.2522-2526 อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ข้าราชการประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนถึงพุทธศักราช 2532
ด้านการเมือง
  • เป็น ส.ส.จังหวัดราชบุรี ระหว่าง 26 มกราคม 2518 - 12 มกราคม 2519
  • เป็น ส.ส.จังหวัดราชบุรี ระหว่าง 4 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519
  • เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  • เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลงานสำคัญ
  • เริ่มต้นโครงการจัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งได้ประสบปัญหานานาประการ ทั้งการต่อต้านจากแพทยสภา สื่อมวลชน ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดคณะแพทยศาสตร์ก็ก่อเกิดขึ้นได้ด้วยอาดูลปีติ
  • กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มาทรงศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจบการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2529
  • โครงการความร่วมมือกับ Illinois State University สหรัฐอเมริกา ส่งคณาจารย์ไปศึกษาต่อปริญญาเอก
  • โครงการแปลหนังสือระดับนานาชาติของ ไทม์-ไลฟ์ บุ๊คชุดวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริษัทเอกชน
  • นักโต้วาทีตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตจุฬาฯ และเมื่อเป็นอาจารย์แล้วก็ยังรับเชิญโต้วาทีอยู่ตลอด
  • อาจารย์รับเชิญ สอนวิชาศิลปะการพูด วาทศิลป์ วาทศาสตร์ เป็นคนต้นๆ ของเมืองไทย นอกจากสอนในมหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนนายอำเภอ โรงเรียนนายร้อย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสมาคมต่างๆ
พระราชทานเพลิงศพ : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายนิพนธ์ ศศิธร ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ.2552 เวลา 17:00 น.

บทกวี : อาลัยรักแด่...ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร เสาหลักแห่งวงการนักพูดไทย

“ศิษย์นักพูด คารวะ วาทการ กราบอาจารย์ นิพนธ์ ศศิธร…”

คลองดำเนิน ไหลริน ถวิลหา
เหมือนน้ำตา แผ่นดิน ที่รินไหล
ราชบุรี ร้าวราน สะท้านใจ
ศรีนครินทร์ ร่ำไห้ อาลัยลา

โอ้สิ้นแล้ว เสาหลัก นักพูดไทย
ผู้ยิ่งใหญ่ ในผลงาน การศึกษา
ยอดแห่งครู ผู้ประเสริฐ เลิศปัญญา
ผู้ปรารถนา ในธรรม นำสังคม

เพื่อสังคม เป็นธรรม ท่านนำหน้า
การศึกษา คือพลัง ท่านสั่งสม
ท่านพากเพียร เขียนพูด พิสูจน์คม
ชนชื่นชม ศรัทธา วิชาการ


เหมือนจันทร์คล้อย ลอยพราก ไปจากฟ้า
เมื่อชีวา ล่วงลิบ ทิพย์สถาน
แต่แสงแห่ง นฤมิต จิตวิญญาณ
ยังตระการ ส่องสว่าง กลางใจชน

กราบเสาหลัก แห่งวิชา วาทศิลป์
ปราชญ์แผ่นดิน ผู้ยิ่งใหญ่ ในทุกหน
กราบยอดครู ปูชนีย- บุคคล
กราบอาจารย์ นิพนธ์ ศศิธร

ศศิธร ยังจรัส รัศมี
คุณความดี ยังโดดเด่น เป็นอนุสรณ์
กระจ่างงาม นาม “นิพนธ์ ศศิธร”
หอมขจร ไปทั่วทิศ นิจนิรันดร์...

----------------------------

ผู้ประพันธ์ : ดร.อภิชาติ ดำดี นักพูด ศิษย์ ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร
ว่าที่ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกระบี่ ปี 2549
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ


ที่มาของภาพ
http://www.phraprasong.org/
พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ
อุปสมบท ณ วัดโพธาราม จังหวัดราชบุรี

หลังจากการออกพรรษาในปี พ.ศ. 2520  ท่านได้ออกธุดงค์ไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งได้รับนิมนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ
  • พ.ศ. 2532 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอธิการ
  • พ.ศ. 2534 เป็น พระปลัด
  • พ.ศ. 2537 เป็น พระครูวินัยธร
  • 12 พรรษา ปฏิบัติศาสนกิจให้สหรัฐอเมริกา
  • 8 พรรษา เจ้าอาวาสวัดป่าชิคาโก
  • ปัจจุบัน พำนักอยู่ที่วัดบางปลากด เลขที่ 111 ถนนรังสิต-นครนายก คลอง 14 ตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 26120
ท่านเป็นพระธรรมทูตทั้งสายสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีผลงานทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ที่ให้ข้อคิด และแนวทางปฏิบัติที่ดีงามในการดำเนินชีวิต ซึ่งได้รับความสนใจ อย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้น ท่านยังมีความสนใจในกิจกรรมสำหรับสอนเด็กและโรงเรียนวิถีพุทธอีกด้วย

ผลงานหนังสือ
  • อมตะวลี
  • น้อมสู่ใจ
  • หักหอกเป็นดอกไม้
อ่านเพิ่มเติม http://www.phraprasong.org/
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติ
คุณหญิงไขศรีฯ  เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2480 ณ จังหวัดราชบุรี  ในครอบครัวบุนปาน  บิดาเป็นครู มารดาเป็นแม่บ้าน พื้นเพทั้งบิดา มารดา เป็นคนอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  อาชีพครูของบิดาทำให้ต้องโยกย้ายไปท้องถิ่นต่างๆพอสมควร สุดท้ายเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ) คุณหญิงไขศรีฯ มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน มีน้องชายคนหนึ่งที่สังคมรู้จักกันดี คือ ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน และบริษัทในเครือ

คุณหญิงไขศรีฯ  จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา มีผลการเรียนดีเด่นระดับติด 1 ใน 50 คนของประเทศ ได้รับพระราชทานทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผ่านสตรีวิทยาสมาคม ในการศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบการศึกษา และได้เกียรตินิยมอันดับ ๒ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2503 แล้วจึงกลับไปทำงานเป็นอาจารย์โรงเรียนสตรีวิทยา แต่เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานทางภาษาฝรั่งเศส จึงต้องสอนวิชาภาษาอังกฤษ โดยขณะนั้นก็ศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย จากนั้นย้ายมาเป็นอาจารย์โรงเรียนช่างศิลป ของกรมศิลปากร จนกระทั่งได้มาสอนภาษาฝรั่งเศส ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และเจริญก้าหน้าในตำแหน่งการงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นลำดับ

ครอบครัว
คุณหญิงไขศรี สมรสกับพลเรือเอกกำจัด ศรีอรุณ มีบุตร 3 คน คือ
  1. นายเจนจัด ศรีอรุณ
  2. นายจารึก ศรีอรุณ
  3. นายแพทย์จักรพล ศรีอรุณ
คุณหญิงไขศรี ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นการสรรหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านต่างๆ หลังเกิดวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งคุณหญิงไขศรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวนี้ ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า "รัฐบาลขิงแก่" อันเนื่องมาจากรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สูงอายุ ซึ่งในขณะรับตำแหน่งคุณหญิงไขศรีมาอายุ 69 ปี

ประวัติการศึกษา
  • พ.ศ. 2503 อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2505 อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาฝรั่งเศส) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2506 ประกาศนียบัตรด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาต่างประเทศ (Sorbonne)
  • พ.ศ. 2507 ประกาศนียบัตรด้านอารยธรรมฝรั่งเศส (Sorbonne)
  • พ.ศ. 2507 ประกาศนียบัตรสัทศาสตร์ฝรั่งเศส (Sorbonne)
ประวัติการทำงาน
  • อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร 2 สมัย
  • อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • อดีตประธานคณะกรรมการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • ศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร
  • นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
เครื่องราชอิสริยากรณ์ที่ได้รับ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฏ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ)
  • Commandeur des Palmes Acade'miques (จากประเทศฝรั่งเศส)
ที่มา
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ไขศรี ศรีอรุณ. (สืบค้นเมื่อ 7 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) (นามเดิม: อัมพร ประสัตถพงศ์) เป็นพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2552 มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

ประวัติครอบครัว
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ นายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อ นางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

การบรรพชา และการอุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)เป็นพระอุปัชฌาย์ และ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ประวัติการศึกษา
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

สมณศักดิ์
  • พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
  • พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
  • พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
  • พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
  • พ.ศ. 2543 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ
  • พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
ที่มา
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร). (สืบค้นเมื่อ 7 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นายแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ...ลูกราชบุรี

นายแท้  ประกาศวุฒิสาร
ศิลปินแห่งชาติปี 2542  สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) สาขาย่อย ผู้สร้างภาพยนต์ 

คำประกาศเกียรติคุณ
นายแท้ ประกาศวุฒิสาร เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2461 จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครูวาดเขียน ศึกษาการถ่ายภาพยนตร์กับขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต จากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ข่าวทหารบก และกองภาพยนตร์ทหารอากาศ จากนั้นได้เริ่มสร้างภาพยนตร์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2491 ด้วยภาพยนตร์เรื่องสุภาพบุรุษเสือไทย เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร สาวเครือฟ้า ปาหนัน เห่าดง ฯลฯ ภาพยนตร์ทุกเรื่องประสบความสำเร็จทั้งด้านคุณภาพและความนิยมของประชาชน

นายแท้ เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของไทย ได้ริเริ่มนำวิธีสร้างภาพยนตร์ด้วยต้นทุนต่ำ แต่มีคุณภาพสูงมาใช้ในเมืองไทย ปัจจุบันเป็นบุคลากรคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ ให้แก่ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ผลงานบุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ยังเป็นที่ยกย่องของวงการภาพยนตร์มาจนถึงปัจจุบัน

นายแท้ ประกาศวุฒิสาร สมควรได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ประจำปีพุทธศักราช 2542

ประวัติ
นายแท้ ประกาศวุฒิสาร เดิมชื่อ บุญแท้ เหมะบุตร เกิดที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนโตของ ขุนประกาศวุฒิสาร กับนางท้อ เหมะบุตร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2476  และโรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครูวาดเขียน เริ่มงานภาพยนตร์โดยเป็นช่างถ่ายภาพนิ่งให้กับบริษัทปฏิภาคภาพยนตร์ ของขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต จากนั้นรับราชการเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ข่าวทหารบก และกองภาพยนตร์ทหารอากาศ

นายแท้ ประกาศวุฒิสาร เริ่มสร้างภาพยนตร์โดยเป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย (2492) เมื่อ พ.ศ. 2491 ภาพยนตร์ทุกเรื่องล้วนประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างดี

ชื่อของ 'แท้ ประกาศวุฒิสาร' เป็นที่รู้จักกันดี
ในแวดวงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นอีกยุคสำคัญของการบุกเบิก
วงการภาพยนตร์ไทยให้มีสีสันที่คึกคัก
จนกลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง
ที่เติบโตเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
การทำงาน
  • ช่างถ่ายภาพยนตร์ กองภาพยนตร์ทหารอากาศ
  • ช่างภาพ หนังสือพิมพ์รายวัน
  • 2478 ถ่ายภาพนิ่ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด
  • 2479 ช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ 16 มม. กรมแผนที่ทหารบก
  • 2480 ขายอะไหล่รถยนต์ อู่ซ่อมรถยนต์
  • 2481 ถ่ายภาพและทำหนังสือ กระทรวงพาณิชย์
  • 2484 ช่างถ่ายภาพ และงานโฆษณา บริษัท สหศีนิมา จำกัด (ศาลาเฉลิมกรุง)
  • 2488 เปิดกิจการร้านถ่ายรูป ห้องถ่ายรูปไทยไตรมิตร
  • 2491 อำนวยการสร้างและถ่ายภาพ
  • 2495 อำนวยการสร้างและถ่ายภาพ
  • 2499 อำนวยการสร้าง
  • 2501 กำกับการแสดง
  • 2504 อำนวยการสร้าง
  • 2512 อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง
  • 2514 อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง
  • 2514 อำนวยการสร้าง
ผลงานการอำนวยการสร้าง
  • สุภาพบุรุษเสือไทย (2492)
  • เสือดำ (2494)
  • อวสานเสือใบ (2494)
  • สาวเครือฟ้า (2496)
  • ปาหนัน (2500)
  • เห่าดง (2501)
  • สี่คิงส์ (2502)
  • เสือเฒ่า (2503)
ผลงานกำกับการแสดง
  • เมืองแม่หม้าย (2512)
  • แก้วสารพัดนึก (2514)
  • เจ้าลอย (2515)

รางวัลนราธิป 2551 แท้ ประกาศวุฒิสาร
ที่มาข้อมูล
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. แท้  ประกาศวุฒิสาร. (สืบค้นเมื่อ 6 ต.ค.2553)
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2553). ศิลปินแห่งชาติ : นายแท้ ประกาศวุฒิสาร. [Online]. Available : http://art.culture.go.th/index.php?case=artistDetail&art_id=119&page=&side=mov_drama&detail=biography. [2553.ตุลาคม 6].

ที่มาของภาพ
http://www.magazinedee.com/main/magpreview.php?id=4903
http://www.thaiwriterassociation.org/gallery_show.php?gallid=389
http://art.culture.go.th/index.php?case=artistDetail&art_id=119&pic_id=&side=mov_drama
อ่านต่อ >>

พรไพร เพชรดำเนิน เจ้าของเสียงเพลง..นกกะปูดตาแดง

พรไพร เพชรดำเนิน
พรไพร เพชรดำเนิน
ที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/countryman/page5
พรไพร เพชรดำเนิน เป็นนักร้องลูกทุ่งที่ร้องเพลงในแนวเสียงของสุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย และได้รับการยกย่องว่ามีเสียงที่เหมือนกับเสียงของสุรพล มากที่สุดคนหนึ่ง โดยมีผลงานเพลงที่โด่งดังมากที่สุดของเขาคือ น้ำลงนกร้อง หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของ "ครู รังสี ทัศนพยัคฆ์" เมื่อปี พ.ศ. 2513 ที่ขึ้นต้นว่า " นกกะปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย...."

ประวัติ
พรไพร เพชรดำเนิน มีชื่อจริงว่า วันชัย เจริญชนม์ เกิดเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2491 ที่ ต.ขุนพิทักษ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี บิดาชื่อ ส้มปินนัง มารดาชื่อ นางทองเจือ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เป็นคนที่ 3 ครอบครัวมีอาชีพทำสวนและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  จบชั้นประถมปีที่ 4 จาก โรงเรียนวัดหลักหกรัตนาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เพราะทางบ้านยากจน

พรไพร ชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก โดยสมัยนั้นมีนักร้องคนโปรดคือ "เบญจมินทร์" และ " สุรพล สมบัติเจริญ" เพื่อนๆเรียกเขาว่า "สุรพลน้อย" เพราะมีเสียงเหมือน สุรพล เขาชอบเข้าประ กวดการร้องเพลงลูกทุ่ง และร่วมเดินสายไปกับคณะรำวงต่างๆ โดยทำหน้าที่เป็นนักร้องเชียร์รำวง

เข้าสู่วงการ
เมื่อปี พ.ศ. 2510 ขณะอายุได้ 19 ปี เขาเริ่มทำงานที่สถานีวิทยุยานเกราะ จากการแนะนำของครูชวนชัย ฉิมพะวงศ์ และต่อมาก็ได้เข้าประกวดร้องเพลงในรายการที่จัดโดย ครูจำรัส วิภาตะวัธ โดยมีคู่แข่งมากเป็นพัน แต่เขาก็ชนะเลิศด้วยเพลง "แฟนจ๋า" ของสุรพล โดยมีครูชวนชัยเป็นคนตัดสินด้วย และนอกจาก จะได้รับสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทแล้ว ครูจำรัส ยังรับเข้าเป็นนักร้อง โดยให้อยู่กับวงดนตรี "เตือนใจ บุญพระรักษา " เขาจึงนับถือเป็นครูชวนชัยเป็นครูคนแรก และเป็นพ่อคนที่ 2

เขาอยู่กับวงนี้ได้ประมาณ 1 ปี แต่ก็ได้บันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิตชื่อ "มีแต่ใจให้เธอ" โดยใช้ชื่อ พรไพร เพชรดำเนิน ซึ่งเขาเป็นคนตั้งเอง ต่อมาก็ได้บันทึกเพลง ทรงมะกัน , หัวใจเปลี่ยว , หนองหารสะอื้น , เล็กสุดที่รัก , รักเก่าที่ขอนแก่น , กรุงเทพ-กรุงธน และ กลืนน้ำลาย

ปี พ.ศ. 2513 เขาออกมาอยู่กับวง "ศรีไพร ใจพระ" หรือ เก่งกาจ จงใจพระ ในปัจจุบัน และได้ร้องเพลงเช่น "แฟนชั่นหน้าหนาว" , " คืนพี่คอย" และ "นุ่งสั้น"

ช่วงนี้เขามีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง รวมทั้งได้ร้องเพลงประกอบชื่อ "น้ำลงนกร้อง" ของครู ไพบูลย์ บุตรขัน ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังอย่างมาก ตามประวัติเพลงนี้นั้น ตอนแรก จะ ให้ บรรจบ เจริญพร ที่ร่วมแสดงในเรื่องเป็นผู้ร้อง แต่เนื่องจาก บรรจบร้องหลายเพลงจึงเปลี่ยนมาให้ พรไพร เพชรดำเนิน เป็นผู้ร้อง เขาจึงนับถือ ศรีไพรเป็นครูคนที่ 2 เพราะทั้งให้ร้องเพลง แนะนำเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และแนะนำให้รู้จักกับครูไพบูลย์ โดยผู้ที่เขา จากนั้นเขายังได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ที่มีเพลงประกอบมากที่สุดถึง 20 เพลง ในเรื่องนี้เขาได้ร้อง 1 เพลงคือ ดอกรักแห้งแล้ว ของครูสุรินทร์ ภาคศิริ

ต่อมาได้ออกจากวง "ศรีไพร" มาร้องเพลงที่ห้องอาหาร"นวลศรี"  ข้างโรงภาพยนตร์  "เฉลิมไทย"  โดยร้องอยู่ 2-3 ปี ก็ออกมาตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง และได้บันทึกเสียงไว้หลายเพลง เช่น "ขายควายแต่งงาน, หนุ่มไทยเก๊กซิม และ จำได้ไหมน้อง เขาทำวงอยู่ 5-6 ปีก็เลิกวง และกลับไปร้องเพลงตาม ห้องอาหารอีกครั้ง

ขบวนเรือแจวกันไปเพื่อไปดูหน้าและดูใจ สาวบ้านทุ่งที่เพิ่งกลับมาจาก
บางกอก..ทำไมจึงได้เปลี๊ยนไป(สมัยโน้นคำนี้คงยังไม่มี)..ว่าแล้ว..
ฉากนี้ พรไพร เพชรดำเนิน..ก็ร้องเพลง ปู๊ด ๆ ๆ ๆ ๆ นกกระปูดตาแดง
น้ำแห้งก็ตาย ๆ ๆ ..(น้ำลงนกร้อง)เพื่อตัดพ้อต่อว่า อีสาวคนที่ตนเองรัก
และ..บุบฝา..ร้องเพลงแก้...ชื่อว่าเพลง นกร้องน้องช้ำ.....
ที่มาของภาพ : http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=3948&page=1&keyword
ที่มา
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. พรไพร เพชรดำเนิน . (สืบค้นเมื่อ 6 ต.ค.2553) 
อ่านต่อ >>

ลลนา สุลาวัลย์ นางเอกเขี้ยวเสน่ห์ จากบ้านโป่ง

ลลนา สุลาวัลย์
ที่มาของภาพ
http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=2354
ลลนา สุลาวัลย์ ชื่อจริง ลลนา บำเรอจิต ชื่อเล่น จิ๋ม
เกิดวันที่  2 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 
เป็นดารานักแสดงหญิง ที่ได้รับฉายาว่า "นางเอกหลายสิบล้าน" "นางเอกเขี้ยวเสน่ห์" มีผลงานการแสดงได้รับความนิยมสูงสุด ช่วง พ.ศ. 2519 - 2521

ลลนา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จาก โรงเรียนปานะพันธ์ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่อง วัยอลวน เมื่อปี 2519 คู่กับไพโรจน์ สังวริบุตร กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ทำรายได้ทำลายสถิติภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งครองสถิติรายได้ 6-7 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2513 และมีเพลงประกอบที่มีชื่อเสียง คือเพลง น่ารัก และ สุขาอยู่หนใด วัยอลวนมีภาคต่ออีก 2 ภาค คือ รักอุตลุด (2520) และ ชื่นชุลมุน(2521)

ลลนามีผลงานแสดงประมาณ 50 เรื่อง คู่กับสรพงศ์ ชาตรีมากที่สุด ประมาณ 20 เรื่อง ผลงานแสดงที่ดีที่สุด คือบท ดวงจันทร์ จากเรื่อง เลือดสุพรรณ ฉบับสร้างใหม่โดยเชิด ทรงศรี แสดงนำคู่กับ ไพโรจน์ สังวริบุตร และบท อีแพน จากเรื่อง ดวงตาสวรรค์ กำกับโดย พิศาล อัครเศรณี คู่กับ 3 พระเอก สรพงศ์ ชาตรี-พิศาล อัครเศรณี-มนตรี เจนอักษร ร่วมสมทบด้วยเนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์ ,พิราวรรณ ประสพศาสตร์

ลลนา สุลาวัลย์ กลับมาแสดงภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน 4 : ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น เมื่อ พ.ศ. 2548 พบคู่ขวัญคนเดิมเมื่อ 30 ปีก่อน คือ ไพโรจน์ สังวริบุตร หนังไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ลลนา สุลาวัลย์ ได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 14 ปี 2548, รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม Hamburger Awards ครั้งที่ 4 ปี 2548, รางวัลเกียรติคุณทางการแสดง ครั้ง ที่ 3 ปี 2548 นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในบทนำ โดยกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางการแสดง, รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม Movie Max Awards 2006

ผลงานภาพยนตร์ 
  1. วัยอลวน
  2. ชื่นชุลมุน
  3. รักอุตลุด
  4. กัปตันเรือปู
  5. ดาวเรือง
  6. พ่อหม้ายทีเด็ด
  7. ล่า
  8. หัวใจห้องที่ 5
  9. บัณฑิตเหลือเดน
  10. ผ่แดง
  11. ครูทิม
  12. นักเลงคอมพิวเตอร์
  13. ลูกสาวกำนัน 2
  14. นิจ
  15. ไอ้จอมเก
  16. ไฟในทรวง
  17. ดอนตูมปืนตัน
  18. สังข์ทอง
  19. ปลาบู่ทอง
  20. ทอง 2
  21. ไฟรักอสูร
  22. น้องเมีย
  23. ดวงตาสวรรค์
  24. อีหนูเขี้ยวเสน่ห์
  25. พรุ่งนี้ก็สายเกินไป
  26. รักข้ามโลก
  27. ผู้แทนมาแล้ว
  28. เลือดสุพรรณ
  29. อยู่อย่างเสือ
  30. ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง
  31. หญิงปรารถนา
  32. ไอ้ฟ้าผ่า
  33. นักฆ่าขนตางอน
  34. โก๋บ้านนอกกี๋บางกอก
  35. ดวงเศรษฐี
  36. จ๊ะเอ๋เบบี้
  37. ถึงอย่างไรก็รัก
  38. ฝนตกแดดออก
  39. วัยอลวน 4
  40. สมบัติเจ้าคุณปู่
  41. ฐานันดร 4
  42. จากคุณครูด้วยดวงใจ
  43. เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง
  44. รักเธอเท่าช้าง
  45. ยอดตาหลก
  46. พ่อปลาไหล
  47. สู้ยิบตา
  48. คุณพ่อขอโทษ
  49. ไฟนรกขุมโลกันต์
  50. ไม่มีคำว่ารัก
  51. ทหารเรือมาแล้ว
  52. ทหารหญิงทิงนองนอย
  53. นรกบนดิน
  54. หัวใจกุ๊กกิ๊ก
  55. ผ้าขี้ริ้วหัวเราะ
  56. แตกหนุ่มแตกสาว
ผลงานละคร
  • นางสาวอบเชย ช่อง 3
  • ธนูทอง ช่อง 5
  • แป้งร่ำ ช่อง 5
ผลงานพิธีกร
  • เปิดใจดาราทางช่อง 7
ผลงานการอำนวยการสร้างภาพยนตร์
  • รักที่ต้องรอ
  • รักที่ถูกลืม

ที่มาของภาพ
http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=2354

ที่มา
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. ลลนา สุลาวัลย์. (สืบค้นเมื่อ 6 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เส้นทางดนตรีของลูกราชบุรี ชาตรี คงสุวรรณ

ชาตรี คงสุวรรณ
ที่มาของภาพ
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาตรี คงสุวรรณ ชื่อเรียก โอม เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักดนตรี(Musician) นักแต่งเพลง(Composer) ผู้ผลิตเพลง (Producer) และ ศิลปิน(Artist) ที่มีผลงานออกมาสู่ผู้ฟังเพลงไทยสากลตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากเป็นในรูปของเพลงที่เขาแต่งหรือผลิตขึ้น เขาเข้าสู่วงการดนตรีจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั่วประเทศครั้งแรก ในนามสมาชิกของวง ดิ อินโนเซ็นท์ (The Innocent) ในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง จนกระทั่งผันตัวเองมาเป็น Producer ปัจจุบัน ยังมีสถานะเป็น ศิลปินเดี่ยวที่มีผลงานของตนเองเผยแพร่ ในสถานะทางธุรกิจยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร บริษัท มิสเตอร์มิวสิค (Mister Music) กิจการของตนเองที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเพลงและลิขสิทธิเพลง

ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเส้นทางดนตรีเกือบ 30 ปี งานของเขามีแนวทางดนตรีและเอกลักษณ์ที่ชัดเจน จะเน้นเนื้อหาของดนตรี มีความไพเราะทั้งทำนองและการเรียบเรียงดนตรีที่เรียบง่าย แต่มีการใช้เครื่องดนตรีในแต่ละเพลงอย่างสอดคล้องเหมาะสม  จนแม้กระทั่งนักแต่งเพลงด้วยกันก็ยอมรับว่า เพลงที่ผ่านการแต่งทำนองของโอม ชาตรี นำมาแต่งเนื้อร้องให้ได้ตามอารมณ์เพลงได้ง่าย และมักจะเป็นเพลงที่ประสพความสำเร็จติดหูคนฟังได้เป็นส่วนใหญ่

ในส่วนของความเป็นนักดนตรี เขาฝึกฝนในเครื่องดนตรีต่างๆจนกระทั่งมีเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นจนอยู่ในขั้นนำมาประกอบอาชีพและนำมาใช้บันทึกเสียงในงานของเขา ได้แก่  Acoustic Guitar, Electric Guitar, Bass,Keyboards, Harmonica,Saxophone,Drum,Banjo,Pedle Steel Guitar


ประวัติ
โอม ชาตรี มีพื้นเพ เป็นคน จังหวัดราชบุรี เกิดวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2505 โดยกำเนิด เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 3 คน คุณพ่อเป็นข้าราชการมหาดไทย มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นนายอำเภอ  แต่คุณพ่อได้เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเยาว์วัย จึงได้รับการเลี้ยงดูจากคุณแม่ตั้งแต่เด็กเรื่อยมา ได้รับการศึกษาขั้นต้น ถึงมัธยมศึกษา ที่โรงเรียน ดรุณาราชบุรี และศึกษาต่อสายอาชีวศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แผนกช่างไฟฟ้า จนจบเส้นทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่นี่ ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ รักและสนใจดนตรีมาตลอด มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการเรียนรู้และฝึกฝน เขาจึงเลือกที่เข้ามาสู่สายอาชิพดนตรีในทันทีที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่ได้ใช้วิชาการที่เรียนมาเป็นวิชาชีพ

เริ่มชีวิตนักดนตรี
ในวัยเยาว์ ระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดรุณาราชบุรี โอม ชาตรี ได้เริ่มฝึกหัดเครื่องดนตรีชิ้นแรก เป็นเครื่องเป่า Saxophone เพื่อที่จะเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียน หลังจากนั้น ก็ขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้ทางด้านดนตรีต่อไป โดยเครื่องดนตรีที่ฝึกหัดต่อมาคือ กีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากในช่วงครึ่งศตวรรษมานี้

ในปี 2521 ด้วยวัยเพียง 16 ปี หลังจากมีฝีมือการเล่นกีตาร์ได้ในระดับหนึ่ง ก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อน เข้าไปร่วมงานวงดนตรี ชื่อวงโรแมนติค (Romantics) และเป็นที่มาของการแต่งเพลง มนต์ไทรโยค ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นผลงานกับวงโรแมนติค วงนี้มีเพลงเป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังเพลงอีกเพลง คือ บ้านสีเทา

หลังจากนั้น ปี 2524 ได้เข้ามาอยู่ร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีรุ่นพี่ในจังหวัด ใช้ชื่อวง Four Singles เล่นดนตรี รับงานต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียงอยู่ได้ระยะหนึ่ง อาชีพนักดนตรีสำหรับเขา เป็นอาชีพเสริมในวัยรุ่นที่ต้องเรียนหนังสือไปด้วย ตั้งแต่ในช่วงเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเทคนิค เขาเป็นนักฟังเพลงหลากแนว เป็นแฟนเพลงขนานแท้ของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ซึ่งถือเป็นวงดนตรีสตริงของไทยวงแรกที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในแนวเพลงของตนเอง เป็นต้นแบบให้เดินตามรอยแก่นักดนตรีรุ่นหลัง

นอกจากนั้น เขายังชอบฟังเพลงสากล ซึ่งยุคนั้น เป็นยุคของ Hard Rock มีนักดนตรีดังๆ ซึ่งเป็นแนว Guitar Hero ต่อมาจึงเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาพัฒนาฝีมือทางด้านกีตาร์จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงการดนตรี แม้ว่าจะเป็นนักดนตรีต่างจังหวัด แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เขาเข้ามากรุงเทพฯ เพียงเพื่อเข้ามาหาซื้อเทป อัลบั้มใหม่ๆของศิลปินต่างประเทศทั้งอังกฤษและอเมริกา เพื่อให้เขาสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของแนวทางของโลกดนตรีสากลในยุคนั้น

เส้นทางคนดนตรี
เข้าร่วมเป็นสมาชิก ดิ อินโนเซ้นท์
ปี พ.ศ 2525 เมื่อมีนักดนตรี รุ่นน้องโรงเรียน ดรุณาราชบุรี ซึ่งมีวงดนตรีของตนเอง และมีผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีเพลงฮิต ออกอัลบั้มเทป เป็นของตนเอง ชื่อวง ดิ อินโนเซ้นท์ (The Innocent) อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบของวง จากวงโฟล์คซอง มาเป็นวงดนตรีสตริง ด้วยความที่สมาชิกของวงเคยรู้จักในฝีมือทางด้านดนตรีเป็นอย่างดี โอม ชาตรี จึงได้รับการชักชวน ให้มาร่วมงานกันในฐานะนักกีตาร์และนักแต่งเพลง หลังจากตัดสินใจร่วมงานกัน เขาจึงต้องย้ายมาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และนี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตเขา ที่เปลี่ยนจากนักดนตรีสมัครเล่น มาเป็นนักดนตรีอาชีพ ที่หาเลี้ยงชีพด้วยความเป็นนักดนตรีและเสียงเพลงอย่างจริงๆจังๆ เขาเริ่มงานแรกโดยการเข้าห้องอัดเสียง ทำงานในฐานะนักดนตรี แต่งเพลงและอัดเสียง ให้กับ ดิ อินโนเซ็นท์ สังกัด นิธิทัศน์ โปรโมชั่น ในทันที

ระหว่างเข้ามาบันทีกเสียง งานอัลบั้มชุด อยู่หอ ของ ดิ อินโนเซ้นท์ ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ย่านดินแดง เป็นห้องบันทึกเสียงที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น และที่นี่ ทำให้เขาได้รู้จักกับ บุคคลากรทางดนตรีที่โด่งดังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นตำนานต่อมาให้แก่วงการดนตรีสากลของเมืองไทย และมีอิทธิพลต่อชีวิตการเป็นนักดนตรีของโอม ชาตรี ซึ่งเป็นการรู้จักกันโดยบังเอิญที่ทำงานห้องบันทึกเสียงเดียวกัน แต่ต่างคนต่างทำงานของคนเอง คนละงาน เขาผู้นี้คือ เรวัต พุทธินันทน์

เข้าร่วมงานกับวงพลอย
ในขณะที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองกรุง นอกเหนือจากการทำงานเพลง และออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวง ดิ อินโนเซ็นท์แล้ว บางโอกาส วงก็ต้องมีงานเล่นประจำตามคลับ บาร์ กลางคืน และแม้กระทั่งบางโอกาสที่เป็นช่วงพักการออกอัลบั้ม เขาได้รับการชักชวนให้เป็นนักดนตรีสนับสนุนให้แก่ ศิลปินที่โด่งดังมากคนหนึ่งในยุคนั้นอย่าง ดนุพล แก้วกาญจน์ จนเมื่อพี่แจ้ ฟอร์มวงดนตรีขึ้นมาเพื่อร่วมทัวร์กับเขาอย่างจริงๆจังๆใช้ชื่อว่า วงพลอย ก็มีสมาชิก ตำแหน่งกีตาร์ ชื่อชาตรี คงสุวรรณ อยู่ด้วย เขาทำงานเป็นทั้งนักดนตรีสนับสนุนและนักแต่งเพลงให้งานเพลงของพี่แจ้อยู๋ประมาณ  2 ปี จนประมาณปี 2531 ด้วยงานที่ล้นมือ ทำให้เขาจึงต้องเลือกที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานมากกว่าการขึ้นไปยืนอยู่บนเวที ในฐานะศิลปินกลุ่มอีกต่อไป และนี่คือการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองอีกครั้ง

ที่มาของภาพ
http://www.quamruq.com/diary/love-song-story/83
สู่อาชีพคนทำดนตรี
การที่ได้รับการชักชวนจากพี่เต๋อ ทำให้เกิดโอกาสที่ได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรี มือกีตาร์ ในคอนเสิร์ตของพี่เต๋อ อันเป็นตำนานคอนเสิร์ตของเมืองไทยในเวลาต่อมา คือ คอนเสิร์ต “ปึ้ก” 19 ตุลาคม 2529

หลังจากนั้น เขาได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกันในทีมทำงานเดียวกันของพี่เต๋อ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นทีมทำงานดนตรีที่ทันสมัย และมีบุคลากรนักแต่งเพลง นักดนตรี รุ่นพี่ที่มีฝีมือ เป็นทำงานอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์, อัสนี โชติกุล, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพทูรย์ วาทยะกร, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, นิติพงษ์ ห่อนาค ฯลฯ ภายใต้ชายคาของ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยเริ่มทำงานในฐานะนักดนตรี (กีตาร์) ห้องบันทึกเสียง ผลงานเสียงกีตาร์ในเพลงในยุคแรกๆของแกรมมี่ จึงเป็นฝีมือของโอมเป็นส่วนใหญ่ หลายร้อยเพลง นอกจากการเป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงแล้ว โอมยังได้โอกาส แต่งเพลง แต่งทำนองเพลง และ ผลิตงาน (Produce) ให้กับศิลปินต่างๆในสังกัดแกรมมี่ โดยเริ่มผลิตงาน เต็มตัว

ปี 2533 งานชิ้นแรกในฐานะ Producer ก็ออกเผยแพร่ เป็นของศิลปิน คริสติน่า อากีล่าร์ นักร้องสาวลูกครึ่ง ฟิลิปปินส์ – ฝรั่งเศส สัญชาติไทย ที่เพิ่งเข้าวงการเป็นครั้งแรก ใช้ชื่ออัลบั้มว่า “นินจา” ซึ่งถือว่า ประสพความสำเร็จ ได้รับการตอบรับจากแฟนเพลง อย่างล้นหลาม มียอดขายเทปเกินล้านตลับ มีเพลงฮิตในอัลบั้มมากมาย จนทำให้ต่อมาเขาได้โอกาสทำงานให้กับศิลปินอีกหลายคน Ynot7 ,อินคา, อำพล ลำพูน, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล หรือแม้กระทั่ง การรวมตัวกันเฉพาะกิจของ แอม-ดา (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร-ศักดา พัทธสีมา) งานทั้งหมดของศิลปินเหล่านี้ ผลิตออกมาโดยทีมงานผลิตที่มีคุณภาพ และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง

งานบริหารค่ายเพลง
ภายหลังจากพี่เต๋อ เสียชีวิตลง เมื่อปี 2539 สิ่งที่ตามมาคือก่อให้เกิดสภาวะขาดแคลนผู้นำของกลุ่มคนทำงานเพลง เมื่อรวมเข้ากับความอิ่มตัวในหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ทำให้ โอม ชาตรี คิดที่จะขยับขยายการทำงาน มาเป็นผู้บริหารค่ายเพลงอย่างเต็มตัว ประกอบกับการปรับปรุงโครงสร้างภายในของแกรมมี่ ที่แตกเป็นบริษัทย่อยต่างๆ มากมาย เพื่อเติบโตตามความสามารถและความถนัดของบุคลากรหลักที่เคยมีอยู่

ลังจาก งานคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และ น้อง แด่ เรวัติ พุทธินันทน์ ( Tribute to Rewat Buddhinan Concert) ที่เขารับหน้าที่ Music Director อันเป็นหน้าที่ที่เขาภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสทำงานให้พี่ชายที่เขารักและเคารพจบลง จึงได้เกิดค่ายย่อยภายใต้ชื่อ RPG Records ขึ้นในปี 2541 โดยมี โอม ชาตรี เป็นผู้บริหาร RPG ย่อมาจาก Rewat”s Producer Group ซึ่งในความหมายก็คือการรวมตัวกันทำงานของ ทีมProducerที่เคยร่วมทำงานกับพี่เต๋อมาก่อน เป็นการตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงและเป็นกำลังใจในทำงาน ซึ่งในยุคเริ่ม RPG มีบุคลากรที่ทำงานเพลงหลัก ได้แก่ สมชัย ขำเลิศกุล, ชุมพล สุปัญโญ,อภิชัย เย็นพูนสุข,โสฬส ปุณกะบุตร, พงษ์พรหม สนิทวงศ์ฯ, รุ่งโรจน์ ผลหว้า,ธานัท ธัญญหาญ วรวิทย์ พิกุลทอง, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ ,กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา เป็นต้น

แม้ว่าจะทำงานในฐานะผู้บริหารค่ายเพลง แต่เขาก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการผลิตงานดนตรีได้ เพียงแต่เขาขยับไปทำหน้าที่ Executive Producer ซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางของดนตรีและ เพลงแต่ละเพลงที่ผลิตออกมา โดยให้ Producer เป็นผู้รับไปดำเนินการต่อจนสำเร็จ ศิลปินที่อยู่ในสังกัด RPG เริ่มด้วยการเปิดตัวศิลปิน Rock Dance ชื่อ มิสเตอร์ทีมที่มีเพลงดังเป็นที่นิยมมากมายในอัลบั้ม และตามมาด้วยศิลปินต่างๆอีกหลายคน Double U, Peter Corp Dyrendal ,คริสติน่า อากีล่าร์, ธีรภัทร์ สัจจกุล, Ynot7, ศักดา พัทธสีมา,ปาล์มมี่ และ วงPURE ซึ่งศิลปินแต่ละคน มีทั้งประสพความสำเร็จอย่างมาก และน้อย คละกันไป ท่ามกลางตลาดเพลงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไปตามเทคโนโลยี่

ตลาดไฟล์เพลง MP3 ที่เติบโต มากกว่างาน CD ต้นแบบ รวมถึงการมาของ CD Writer และ เครื่องเล่น MP3 ที่ทำไห้ไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ก็สามารถฟังไฟล์เพลงได้ ทำให้งานเพลงในรูปแบบของ MP3 ยิ่งเติบโตแบบยั้งไม่อยู่ ในขณะที่อัลบั้มที่เป็นงานเพลงที่วางขายอยู่กลับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไม่มาก และตั้งแต่ ปี 2542 เป็นต้นมา การที่จะทำให้งานเพลงของศิลปินใดผลิตออกมาด้วยความสำเร็จ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญกว่าเก่าหลายเท่านัก

ที่มาของภาพ
http://www.jaranmanopetch.com/board/584
กระแสการเปลี่ยนแปลง
การเน้นงานคุณภาพงานทางด้านดนตรีของเขา ยังคงเป็นบุคลิกติดตัวอยู่กับเขาตลอดมาไม่ว่าเขาจะทำงานที่ใด จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่รู้กันดีว่า งานใดที่ออกมาจากค่ายเพลงของเขา จะเป็นงานที่เน้นเนื้อหาความเข้มข้นของดนตรีมากกว่าสิ่งอื่นใด ทำให้เขาได้รับการกล่าวขวัญจากคนดนตรีด้วยกันว่า มีแนวทางของตนเองที่ชัดเจนมาตลอด แม้ว่าบางครั้ง การทำงานจะขัดกับแนวทางการตลาดบ้างก็ตาม

แต่นั่นเอง การทำงานท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด รวมถึงบรรยากาศเก่าๆ เป็นสาเหตุให้เกิดความอิ่มตัวมาถึงเร็วกว่าที่คิด ทำให้การสร้างสรรค์งานเริ่มมีอุปสรรค เขาจึงหาทางขยับขยายเพื่อ ปลดปล่อยตัวเองอีกครั้ง เพื่อมาทำงานในค่ายเพลงใหม่ ภายใต้ชี่อ คราฟท์แมน เรคคอร์ดส์ (Craftsman Records) ซึ่งเป็นค่ายเพลงอิสระที่ตั้งขึ้นมากับเพื่อนๆ Producer ที่เคยทำงานด้วยกัน แต่อยู่นอกชายคาต้นสังกัดเดิม ตั้งแต่ปีกลางปี 2547

ศิลปินในสังกัดส่วนใหญ่จะผลิตงานเอง ทั้งที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และ เข้ามาใหม่ อาทิ เช่น GR9, 2Peace, Big & The Superband, 4Gotten, Jugg Big และ Jida งานของศิลปินเหล่านี้ ได้รับการตอบรับว่า เป็นงานที่มีคุณภาพ แต่ด้วยความเป็นค่าย Indy การขาดแคลนแหลายๆสิ่งที่เคยมีอยู่ในองค์กรใหญ่ๆ ทำให้งานเพลงไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร แม้ว่าในภายหลังศิลปินในสังกัดเกือบทุกราย จะได้รับรางวัลในการทำงาน เป็นกำลังใจในผลงานด้านต่างๆ จากสถาบันต่างๆ หลายรางวัลก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการตลาดในทางที่ดีนัก โดยเฉพาะในครั้งนี้เขาทำงานบริหารอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงของโลกที่รุนแรงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น
  • การยอมรับไฟล์เพลงที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่าง MP3มาเป็นเรื่องถูกกฎหมายของผู้ฟัง
  • การเกิดใหม่ของแหล่งเผยแพร่ของสื่อเพลงชนิดใหม่เช่น สื่อ Digital หรือแม้กระทั่ง
  • การเปลี่ยนแปลง จากการทำดนตรีเป็นอัลบั้มออกจำหน่ายมาเป็นตัดเพียงเพลงบางเพลงออกจำหน่ายในรูปแบบDigitalผ่านไปสู่ผู้ฟังจากสื่อโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
เหล่านี้ คือการเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงทั่วโลกที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีทั้งหมด ต้องหาทางปรับตัว ปรับปรุงวิธีการทำงาน จนกระทั่งเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อหาโอกาสหยิบยื่นงานของตนเองต่อผู้ฟัง แต่สำหรับโอม ชาตรี เขาเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ แต่รักษาคุณภาพงานเดิมไว้ ออกมายืนหน้าเวที หยุดทำงานเบื้องหลัง และ ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ในฐานะนักดนตรี นักร้อง ทำงานของตนเอง ในนามของตนเองเป็นครั้งแรก ในเวลาเกือบ 30 ปี ของชีวิตคนดนตรี

ศิลปินเดี่ยว
เป็นสถานะปัจจุบันที่เพิ่มเข้ามา เขาเริ่มโดยการนำทำนองเพลงที่แต่งเก็บไว้มากกว่า 200 เพลงออกมาใช้ เริ่มด้วยการเรียบเรียงเพลง Friends ขึ้นมาเป็นเพลงบรรเลง ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรที่สนับสนุนงานดนตรีดีๆ มาตลอดอย่าง สิงห์คอร์ปอเรชั่น(บุญรอดฯ) ได้นำเพลงดังกล่าว ไปร่วมกิจกรรม สิงห์กีตาร์ตามหาสิงห์เนื้อร้อง โดยประกวดการแต่งเนื้อร้องให้แก่เพลง Friends จนได้งานเพลงที่ชนะเลิศปิดโครงการไปในเดือน พฤศจิกายน 2550 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศเป็นศิลปินเดี่ยว ต่อสาธารณชนอีกครั้ง

หลังจากนั้น ในปลายปี 2550 หลังจากซุ่มทำเพลงจนเสร็จเรียบร้อย ด้วยแรงสนับสนุนของ TRUE Corp และ ผลิตภัณฑ์สิงห์(บุญรอดฯ) ทำให้เขาผลิตงานอัลบั้มของตัวเอง ภายใต้สังกัดใหม่ที่ชื่อ Mister Music ที่เป็นบริษัทของเขาเอง ผลิตงานเพลงโดยมีเขาเป็นศิลปิน OHM CHATREE KONGSUWAN งานเพลงอัลบั้มแรก ออกเผยแพร่เต็มอัลบั้มครั้งแรก เมื่อเดือน มกราคม 2551 ชื่ออัลบั้ม Into The Light อันเป็นงาน ที่บ่งบอกตัวตนทางดนตรีของเขาอย่างชัดเจน ทั้งแนวทางดนตรี Rock ที่หลากหลายทั้งเพลงที่มีเนื้อร้อง บรรเลง และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เพลงในอัลบั้ม Into The Light ได้แก่ ลูกผู้ชายไม่หวั่นไหว,Into The Light, รักกันตลอดไป, จะอะไรนักหนา, เรื่องเล่าจากสายน้ำ, เขาไม่เปลี่ยน, Song for RW สิ่งดีๆจะกลับมา - Instrumental, อย่าทำใจหาย, Brave & Crazy – Instrumental, ทุกคนสำคัญ,Friends – Instrumental (Bonus Track)

งานในอัลบั้มนี้ โอม ชาตรี เป็นผู้ลงมือทำเอง เกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ แต่งทำนอง เนื้อร้อง(บางเพลง) เล่นดนตรี เกือบทุกชิ้น กีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด ร้องและคุมร้องเอง บันทึกเสียง ควบคุมการผลิต รวมทั้งการทำ Mastering จนเสร็จ โดยมีแขกรับเชิญเข้ามาร่วมงานดังนี้ 
  • อนุสาร คุณะดิลก(เม๋)พี่ เพื่อน และคู่คิดทางด้านงานดนตรี ช่วยบันทึกเสียง Bass
  • ครูบี,ครูฟ้าใส แห่ง Academy Fantasia เสียงประสานในเพลง เรื่องเล่าจากสายน้ำ
  • จั๊ก ชวิน บันทึกเสียง Acoustic Guitar เพลง Friends
  • มุรธา ร่วมรักษ์ บันทึกเสียงกลอง ในเพลง Friends และ ลูกผู้ชายไม่หวั่นไหว
  • วีระนนท์ นวชานน ประสานงานในการประพันธ์เนื้อร้องในงานทั้งอัลบั้ม
ชื่ออัลบั้ม Into The Light ได้แนวคิดมาจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของเขา จากคนอยู่เบื้องหลังศิลปิน เหมือนคนที่เคยอยู่ในเงามืด มีสิ่งที่เป็นแสงสว่างที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า จนถึงเวลาที่ตัดสินใจออกไปสู่แสงสว่างที่สาดส่องเข้ามา เหมือนศิลปินบนเวทีที่มีแสงไฟจ้องจับอยู่ ซึ่งในเพลงนี้ เขาได้ บอยด์ โกสิยพงษ์ เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นนักแต่งเนื้อเพลงคนดังแห่งยุคนี้ ที่รู้จักกันมาหลายปีก่อนหน้านั้น แต่งเนื้อร้องให้

รางวัลที่ได้รับ
พ.ศ.2538 - ได้รับรางวัล Producer ยอดเยี่ยม จากผลงานเพลงอัลบั้มแรกของวง “ Y not 7 ” จาก สไมล์ทีวี (ไทยสกายเคเบิลทีวี)
พ.ศ.2552 ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
  • รางวัล สีสันอวอร์ด ครั้งที่ 21 โดยพิจารณาผลงานที่ออกเผยแพร่ในปี 2551 รวม 3 รางวัล
    • 1.เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม จาก เพลง Song For RW สิ่งดีๆจะกลับมา อัลบั้ม Into The Light
    • 2.อัลบั้มยอดเยี่ยม Into The Light
    • 3.ศิลปินชายเดียวยอดเยี่ยม จาก อัลบั้ม Into The Light
  • รางวัล Lifetime Achievement จาก FAT AWARDS ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดโดย FAT RADIO FM 104.5
พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัล
  • รางวัล Lifetime Achievement HAMBURGER AWARDS ครั้งที่ 7 จากนิตยสาร HAMBURGER vol. 8 no. 141 March 2010
การร่วมงานคอนเสิร์ตและกิจกรรมดนตรี
  • 19 ตุลาคม 2529 เป็นครั้งแรกที่ โอม ชาตรี ได้เข้าร่วมคอนเสิร์ตใหญ่ในฐานะนักกีตาร์นำ และเป็นตำนานต่อมา คอนเสิร์ต ปึ๊ก ของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • 5 กันยายน 2541 ร่วมคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และน้อง แด่ เรวัต พุทธินันทน์ ที่ห้อง Plenary Hall ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิตติ์ ในฐานะที่เป็น Music Directorและเป็นมือกีตาร์หลักในช่วง RPG Session ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นการรวมนักดนตรีที่เป็นคนทำงานProducer ร่วมกับพี่เต๋อมาก่อน
  • มิถุนายน – กันยายน ปี 2550 เข้าร่วมงานกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กับกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 4 รายการ Reality Show ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยอย่างสูงสุด ซึ่งแสดงคอนเสิร์ต ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และ ครั้งสุดท้ายของโครงการที่ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก รวม 13 ครั้ง
  • เมษายน – กรกฎาคม ปี 2551 ร่วมกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กับกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 5 ซึ่งแสดงคอนเสิร์ต ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี รวม 12 ครั้ง
  • 28 พฤษภาคม 2551 มีคอนเสิร์ตของตนเองในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นครั้งแรก Ohm Chatree Kongsuwan & Friends : Live! Into The Light ที Royal Paragon Hall สยามพารากอน โดยมีแขกรับเชิญซีงเป็นเพื่อนที่เคยร่วมงานในต่างฐานะมากมาย อาทิเช่น โอ้ โอฬาร พรหมใจ/ป๊อบ เดอะซัน/ Black Head / อินคา /ตุ้ย ธีรภัทร์/ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล/ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ /พะแพง AF4 /บิ๊ก ธานัท / จั๊ก ชวิน / หนึ่ง จักรวาร / ดั๊ก Infinity/ปราชญ์ อรุณรังสี ฯลฯ
  • 13 กันยายน 2551 ร่วมงานคอนเสิร์ต ในฐานะศิลปินรับเชิญ คอนเสิร์ตแด่คนช่างฝัน จรัล มโนเพ็ชร (Tribute To Jaran Manopetch) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 4 ตุลาคม 2551 ร่วมงานในฐานะแจกรับเชิญ คอนเสิร์ต Etc : Bring It Back ที่ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2552 รับหน้าที่เป็น Executive Music Director ให้กับโครงการ The Master ของ True Visionเป็นการจำลองบริษัทผลิตเพลง โดยนำเอาสมาชิกที่ประสพความสำเร็จในโครงการ Academy Fantasia มาร่วมกันสร้างงาน แต่งเพลง สร้างรูปแบบโชว์ แสดงคอนเสิร์ต ทุกวันเสาร์ รวม 4 สัปดาห์ ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เป็นครั้งแรกที่รูปแบบของรายการได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการทำงานเพลงอย่างละเอียดเกือบทุกขั้นตอน เป็นทั้งการให้ทั้งความรู้และความบันเทิงในลักษณะ Reality Show ที่สมบูรณ์
  • 4 กรกฎาคม 2552 - 19 กันยายน 2552 ร่วมงานกับ True Visions ในฐานะ Executive Music Production ให้กับ TRUE ACADEMY FANTASIA Season 6 โดยทำหน้าที่ควบคุมทีม Mister Music ที่เป็นทีมงานด้านดนตรีทั้งหมดในงาน AF6
  • 10 ตุลาคม 2552 โอม ชาตรี คงสุวรรณ และเพื่อนสมาชิกหลักของ The Innocent พีรสันติ จวบสมัย,สายชล ระดมกิจ และ เสนีย์ ฉัตรวิชัย ร่วมกับ สิงห์คอร์ปอเรชั่น, S2 Organizer และ I-Works Entertainment จัดคอนเสิร์ตใหญ่โดยใช้ชื่อว่า The Innocent Concert ที่ Impact Arena เมืองทองธานี ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเต็มรูปแบบ มีแขกรับเชิญมาร่วมแสดง อาทิ [[เศรษฐา ศิระฉายา]],บอยด์ โกสิยพงษ์, ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ,บอย ตรัย ภูมิรัตน์, นภ พรชำนิ,วงลิปตา,วง The Begins แหม่มและปุ้ม แห่งวง สาว สาว สาว, จิ๊บ วสุ แสงสิงแก้ว, เหม วงพลอย,รักษ์ วงพลอย, ต้น แมคอินทอช,โต๋ ศักดิ์สิทธิ,หนึ่ง จักรวาร,โก้ แซ็กแมน,วง ETC และสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง สมาชิกก่อตั้งของวง ดิอินโนเซ้น่ท์ โดย โอม ชาตรี ทำหน้าที่เป็นทั้ง Show Director และ Music Director การจัดโชว์ครั้งนี้ มีการเตรียมตัวและทำงานร่วมกันเป็นทีมตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และในภาคดนตรี มีการซ้อมกันอย่างหนักต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากงานดังกล่าว เป็นที่กล่าวขานจากผู้ที่ได้เข้าชมว่า เป็นคอนเสิร์ต ที่จัดได้อย่าง สนุกสนาน มีสคริปเพลงที่ลงตัว และ โปรดักชั่นของคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์แบบ โดยในการแสดงดังกล่าว มีเพลงที่นำมาแสดง ประมาณ 30 เพลง ใช้เวลาในการแสดง 3 ชั่วโมงเต็ม
  • 3 กรกฏาคม ถึง 18 กันยายน 2553 ร่วมงานกับ True Corporation รับหน้าที่ เป็น Music Director และ ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมดนตรี ในงาน ACADEMY FANTASIA Season 7
นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โอม ชาตรี ได้ร่วมงานกับ นิตยสาร Overdrive หรือ Prart Music Group เป็นผู้เผยแพร่ข้อเขียนอันเป็นประสบการณ์ของเขาทางด้านการทำงานดนตรี เน้นไปทางงานกีตาร์ ลงในหนังสือ Overdrive เป็นระยะๆ และ ยังได้ร่วมกิจกรรมขึ้นเวที Guitar Workshop และ Mini Concert ให้ความรู้เทคนิค และสาธิตการเล่นกีตาร์รูปแบบต่างๆ ร่วมกับมือกีตาร์ชั้นนำ เช่น โอฬาร พรหมใจ, Pop The Sun, ปราชญ์ อรุณรังสี ตามสถานที่และสถาบันในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆในประเทศ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี หาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำตามโอกาสและเวลาจะอำนวย


ผลงานสร้างชื่อในฐานะนักแต่งเพลง
  • เรวัต พุทธินันทน์  เพลงอย่างน้อยก็คิดดี, สามหนุ่ม สามมุม, ตะกายดาว, คน ค้น คน, สักวันต้องได้ดี
  • ดนุพล แก้วกาญจน์ เพลงนิดนึงพอ, ของขวัญ
  • อัสนี-วสันต์ เพลงคงเดิม, ทุกข์ไม่เว้นวันราชการ, แทนคำนั้น, ลงเอย
  • ธงไชย แมคอินไตย์ เพลงขอบใจจริงๆ, เราจะยิ้มให้กัน, จับมือกันไว้, หมอกหรือควัน, คู่กัด, เหมือนเป็นคนอื่น, พริกขี้หนู, เหนื่อยไหม, สัญญาต้องเป็นสัญญา, ใจเย็นๆ
  • นูโว  เพลงของมันได้อยู่เลย, สัญชาตญาณบอก, สุดสุด...ไปเลย, ตกลงจะซื้อมั้ย, ทนทนเอาหน่อย
  • นันทิดา แก้วบัวสาย  เพลงไม่ต้องการเห็นบางคน (ที่ไม่รักกัน), แค่ใบไม้ร่วง
  • ตั้ม สมประสงค์  เพลงทนได้ทุกที, ที่เก่าที่ฉันยืน
  • บิลลี่ โอแกน  เพลงเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
  • ไมโคร  เพลงเอาไปเลย, ส้มหล่น, ยังไงก็โดน
  • ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เพลงทำใจลำบาก, ศิลปินเดี่ยว, ซ้ำเติม, เขตปลอดมนุษย์
  • ฐิติมา สุตสุนทร  เพลงของดีๆ, ใครจะเป็นรายต่อไป, อาจจะเป็นคนนี้
  • ใหม่ เจริญปุระ  เพลงสุดฤทธิ์สุดเดช, เรื่องมันจำเป็น, อ๋อเหรอ, อยากจะร้องไห้, ไม่ลืม
  • คริสติน่า อากีล่าร์ เพลงพลิกล็อก, ประวัติศาสตร์, ไปด้วยกันนะ, อยากให้รู้เหลือเกินว่าฉันเสียใจ, จับมัดไว้, อุ่นใจ
  • เจตริน วรรธนะสิน เพลงกองไว้, คาใจ, แววตา, เจ็บไปเจ็บมา, อยากให้รู้ว่าเหงา
  • อำพล ลำพูน  เพลงยังไงก็โดน, ขอไปกับสายลม
  • อินคา  เพลงหมากเกมนี้, หมดแล้วหมดเลย
  • UHT  เพลง UHT..นี่แหละเพื่อน
  • เสาวลักษณ์ ลีละบุตร เพลงแค่เสียใจไม่พอ
  • วิยะดา โกมารกุล ณ นคร เพลงเดียวดาย
  • Y not 7  เพลงทิ้งรักลงแม่น้ำ, รู้ไว้ซะ, เกลียดความสงสาร
  • สุนิตา ลีติกุล เพลงฉันจะจำเธอแบบนี้
  • ฟลาย  เพลงไม่ต้องบอก, บิน, เกลียด, คนขี้อิจฉา
  • แอม-ดา เพลงเย เย เยส, เพื่อเธอตลอดไป, ฉันยังเป็นของเธอ, ทางเดินแห่งรัก, เธอคือเพลง, อยู่ด้วยกันก่อน, ไม่เดือดร้อน
  • ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล เพลงชายคนหนึ่ง, จะรักกันนานเท่าไหร่, ให้ฟ้าผ่าเธอ, ฉันยังมีเธอ
  • มิสเตอร์ทีม เพลงเจ้าช่อมาลี
  • ปาล์มมี่ เพลงทบทวน, พื้นที่ส่วนตัว, Stay
  • จั๊ก ชวิน เพลงคนเดือดร้อน
  • ดับเบิ้ลยู เพลงฉันก็ไม่รู้ (เขาก็ไม่รู้)
  • ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ เพลงทรมาน, ฝันเลือนลาง, โลกแห่งความรัก

สัมภาษณ์ โอม ชาตรี คงสุวรรณ เกี่ยวกับคอนเสิร์ต
จากเพื่อน พี่ และ น้อง แด่ เรวัติ พุทธินันทน์
( Tribute to Rewat Buddhinan Concert)


ที่มาข้อมูล
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. ชาตรี คงสุวรรณ. (สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2553)


อ่านต่อ >>