วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

พระประวัติ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



อักษรพระนามย่อ ออป.
อ.(อัมพร) สีแดง เป็นสีประจำวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันประสูติ
อ.(อมฺพโร) สีเหลืองเป็นสีของกาสาวพัสตร์ หมายถึง พระสมณคุณและยังเป็ฯสีของพระอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย
ป.(ประสตถพงศ์) สีเทาฟ้า เป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพระชาติภูมิ

อักษร ออป ผูกกันในรูปโล่ตามรูปแบบเดียวกับอักษรพระนามของ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถน) พระอุปัชฌายะ

กางกั้นด้วยพระเศวตฉัตร 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายสองชั้นขลิบทองแผ่ลวดห้อยอุบะจำปาทอง เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราช


พระชาติภูมิ-พระประสูติกาล
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า "อัมพร  ประสัตถพงศ์" เป็นบุตรชายคนโตในจำนวน 9 คน ของนายนับ กับ นางตาล ประสัตถพงศ์ ประสูติที่บ้าน ตำบลบางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ เวลา 5 นาฬิกา ตรงกับสุริยคติที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ครอบครัวของพระชนกชนนีเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบอาชีพค้าขาย

18 เม.ย. 2560
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เสด็จยังบ้านประสัตถพงศ์ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
ทรงบำเพ็ญพระกุศลและทรงสักการะอัฐิพระชนกชนนี
โดยมี 
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เฝ้ารับเสด็จ 

ภาพโดย สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ราชบุรี



การทรงพระอักษรเบื้องต้น
ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่ โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2480 


เด็กชายอัมพรหรือสมเด็จพระสังฆราชในพระปฐมวัยนั้น ทรงฉายแววฉลาดเฉลียวและเอาใจใส่การเรียนอย่างยิ่ง ทรงสามารถสอบไล่ได้คะแนนสูงสุดในชั้นเรียนไม่เคยต่ำกว่าอันดับที่ 3 ของแต่ละชั้นเป็นประจำทุกปี


ทรงบรรพชา-ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระอนามัยไม่สู้ดี มีโรคเกี่ยวกับลำไส้เข้าเบียดเบียน พระบุพการีจึงอธิษฐานบนบานขอให้เด็กชายอัมพรได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อให้หายจากอาการเจ็บป่วย เมื่อพระชันษา 13 ปี จึงได้ทรงเข้าบรรพชา ณ วัดสัตนนาถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ 

แต่เดิมทรงตั้งพระทัยจะบรรพชาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วจำลาสิกขา แต่พระบุพการีของร้องให้ดำรงสมณเพศต่อไป จึงเป็นเหตุให้ได้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีสืบมา

เมื่อทรงเป็นสามเณร ได้เสด็จไปทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถ์ สุมิตฺโต (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีธรรมานุศาสน์ เจ้าคณะอำเภอเมือง-บางแพ ณ วัดตรีญาติ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี ) ทรงสอบได้ประโยคนักธรรมและบาลีชั้นต่างๆ ในสำนักเรียนวัดตรีญาติ ดังนี้
  • พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
  • พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท
  • พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญ
  • พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

เสด็จเข้าพระนคร-ทรงอุปสมบท
เมื่อ พ.ศ.2490 ได้ทรงพบกับ พระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี) เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ตระหนักเห็นคุณสมบัติอันดีของสามเณรอัมพร เปรียญ จึงชักชวนเข้ามาพำนักเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ครั้นตกลงแล้ว สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี จึงได้พามาถวายไว้ใต้พระบารมีของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระราชกวี   

ครั้นถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า "อมฺพโร" โดยมี
  • สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็นสมเด็จพระอุปัชฌายะ
  • สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (จินฺตากรเถร) ขณะมีสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว พระมหาอัมพร อมฺพโร ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบางลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนสำเร็จอีก 2 ประโยค
  • พ.ศ.2491 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
  • พ.ศ.2493 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

ทรงเข้าศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัย
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช มีพระอัธยาศัยโปรดด้านการศึกษาเล่าเรียนทั้งธรรมคดีและโลกคดีรอบด้าน ได้ทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏ ในปัจจุบัน) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 สำเร็จปริญญา "ศาสนศาสตรบัณฑิต" เมื่อ พ.ศ.2500 ต่อมาใน พ.ศ.2509 ได้ทรงเข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก นับได้ว่าทรงวางพระองค์เป็นพระภิกษุที่มั่นคงอยู่ในวิถีการศึกษาเล่าเรียนตามจารีตเดิม คือการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี ผสานเข้ากับการศึกษาของพระภิกษุในสมัยใหม่ คือ การศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยและเปิดโลกทัศน์การเผยแพร่สู่สากลด้วยการเป็นพระธรรมทูตยุคบุกเบิกได้ลงตัว

นอกจากนั้น ยังมีพระทัยใฝ่ศึกษาด้านภาษาศาสตร์ โปรดทรงเรียนพิเศษภาคปฏิบัติการสื่อสารภาษาอังกฤษกับพระอาจารย์ชาวต่างชาติเพิ่มเติม ทำให้ทรงสามารถตรัสภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ธรรมไปสู่มหาชนทุกหมู่เหล่า

อนึ่ง ในกาลต่อมา พระกิตติคุณได้ปรากฏเพิ่มพูนเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จึงมีมติถวายปริญญา "ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์" เมื่อ พ.ศ.2552 และ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีมติถวายปริญญา "พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาธรรมนิเทศ" เมื่อ พ.ศ.2553 อีกด้วย

เสด็จทรงไปศึกษาในต่างประเทศ
หลังจากทรงสำเร็จหลักสูตรการอบรมพระะรรมทูตแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2510 เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย ทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2512 นับเป็นพระภิกษุไทยรุ่นแรกๆ ที่เดินทางไปเล่าเรียนวิชาการชั้นสูงตามหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ

อ่านต่อตอนที่ 2

*****************
ที่มาข้อมูล

  • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น