วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 3

อ่านตอนที่ 1
อ่านตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่ 2

น้ำพระทัยด้านการสาธารณสงเคราะห์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงอุปการะกิจการสาธารณสงเคราะห์เพื่อพหูชนทั้งอันโตชนและพาหิรชนไว้เป็นอันมาก อาทิ
  • มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
  • โรงเรียนวัดราชบพิธ 
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จ.พระนครศรีอยุธยา 
  • ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศน์ จ.พระนครศรีอยุธยา
  • มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
  • มูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
โดยมิได้เพียงแต่ประทานพระนามไว้ว่าทรงอุปถัมภ์เฉพาะเป็นเกียรติยศแก่องค์กร หากยังได้ทรงพระเมตตาประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา ทุนสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยที่ขาดแคลนและทุนค้ำจุนดูแลชีวิตของผู้สูงอายุให้มีความสุขตามอัตภาพในวัยชรา มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อันเป็นการเจริญรอยพระจริยาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระอุปัชฌายะผู้มีน้ำพระทัยใฝ่การสาธารณสงเคราะห์เช่นนี้ เป็นแบบอย่างอันดีมานับแต่ก่อนกาล

อนึ่ง เมื่อเกิดพิบัติภัยต่างๆ ขึ้นในบ้านเมือง เช่น วาตภัย  อุทกภัย  ธรณีพิบัติภัย หรือภัยแล้ง ก็ได้ทรงเป็นผู้นำรวบรวมทุนทรัพย์และสิ่งของจากพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนนิกชนทั้งหลายเพื่อบริจาคสงเคราะห์ผู้ประสบภัยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง

วิถีพระปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระ
นอกจากพระปฏิปทาด้านคันถธุระที่ทรงบำเพ็ญไว้ด้วยดีแล้ว ยังทรงพอพระทัยในวัตรปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน โปรดเสด็จไปทรงบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอ  โดยเฉพาะกับพระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร ซึ่งทรงเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทำให้ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับพระวิปัสสนาจารย์และพระภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมสายพระกรรมฐานสืบมาตราบจนปัจจุบัน  แม้เมื่อพระอาจารย์ฝั้นถึงมรณภาพไปแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็ยังเสด็จไปทรงร่วมศาสนกิจต่างๆ อันจัดขึ้นในหมู่สงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีและวิปัสสนาธุระอยู่เนืองๆ พร้อมทั้งทรงรับเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ด้วย

แม้เมื่อพระองค์ประทับในกรุงเทพมหานคร ก็ยังทรงเจริญจิตภาวนาเป็นการภายในที่ประทับเสมอ  และหากเป็นวาระสำคัญ เช่น ดิถีมาฆบูชา วิสาขบูชา  อัฐมีบูชา อาสาฬหบูชา  หรือกำหนดการพิเศษของทางราชการ ก็โปรดเสด็จลงทรงนำพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาวัดราชบพิธเจริญจิตภาวนาทุกครั้งตามที่พระอนามัยอำนวย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันบูชาพิเศษทางพระพุทธศาสนา จะเสด็จลงพระอุโบสถเพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทรงบำเพ็ญสมาธิ และทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ต่อเนื่องถือเนสัชชิกบำเพ็ญเพียรข้ามราตรีตลอดรุ่งร่วมกับพุทธบริษัท ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ  ตามธรรมเนียมของพระอาราม

สมเด้จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20
ครั้งไปศึกษาธรรมกรรมฐาน กับหลวงตามหาบัว
วัดป่าบ้านตาดและถ้ำมะขามหลวงปู่ฝั้น
ผู้ถ่าย/เจ้าของภาพ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20
ผู้ถ่าย/เจ้าของภาพ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

พระปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ทรงครองเนกขัมมปฏิปทาพรหมจริยาภิรัตอย่างบริบูรณ์ ปราศจากข้อสงสัยเคลือบแคลง พระองค์มีอุปนิสัยเรียบร้อย อ่อนโยน สมถะ สันโดษ เรียบง่าย มักน้อย  ไม่ทรงหลงใหลในยศและลาภสักการะ ไม่โปรดลักษณะหรูหราฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย  ไม่มีพระประสงค์ด้านการตกแต่งประดับประดาที่ประทับและบรรดาสมณบริขารด้วยวัตถุอนามาสหรือของวิจิตรอลังการ ไม่โปรดทรงใช้สอยสิ่งของที่มีรูปแบบและสีสันฉูดฉาดบาดตาเกินสมณสารูป ทรงมัธยัสถ์และโปรดใช้วัตถุปัจจัยสิ่งของต่างๆ อย่างคุ้มค่า หากไม่ชำรุดสิ้นสภาพจริงๆ ก็จะไม่ทรงทิ้ง ในขณะที่การอันใดที่เกี่ยวข้องกับความประณีตงดงามของพระอารามและการถวายพุทธบูชาในพระบวรพระพุทธศาสนา จะทรงเอาพระทัยใส่ในรายละเอียด ประทานพระมติแนะนำการตั้งแต่งอย่างรอบคอบและเหมาะสม  ให้สมกับเป็นของบูชาในพระศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงถือข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ด่างพร้อย  ทรงเอาพระทัยใส่กวดขันพระภิกษุสามเณรในปกครองให้วางตนภายในกรอบของพระธณรมวินัยดุจเดียวกับที่ทรงวางพระองค์  ทรงบริหารพระเดชและพระคุณอย่างได้ดุลยภาพลงตัว แม้จะทรงเข้มงวดกวดขันในพระธรรมวินัยกับพระภิกษุสามเณร  แต่ก็เป็นไปด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม

พระองค์มักทรงกำชับและเป็นเนติแบบอย่างให้บรรพชิตมีจรรยามารยาททางกายและวาจาให้เรียบร้อยตามพระวินัยบัญญัติและอย่างสมบัติของผู้ดีที่โลกนิยม อันเป็นแนวทางที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะทรงวางแบบไว้ เพื่อให้สะท้อนถึงความประณีตภาในจิตใจด้วย ทั้งนี้ทรงเน้นย้ำเรื่องการครองตนทั้งกาย วาจา และใจ ให้งดงามตามระเบียบวิถีของทางโลกและทางธรรมย่อมยังให้มหาชนทั้งปวงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาสมกับเป็นสมาชิกของพุทธบริษัท เท่ากับเป็นการรักษาพระศาสนาให้มั่นคงสืบไปด้วย

เจ้าพระคุณสมเด็พระสังฆราช มีพระคุณลักษณะเด่นอีกประการ คือ ทรงมีจริยาการสดใสเบิกบาน ทรงแย้มพระสรวลละไมเป็นนิตย์ โปรดมีพระปฏิสันถารโอภาปราศรัยกับผู้คนทั่วไปทุกชั้นทุกวัย ไม่มีพระอาการปั้นปึ่งไว้พระยศ ไม่วางพระรัศมีข่มผู้ใดด้วยความมานะถือพระองค์  แม้เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว ก็มักมีรับสั่งให้ผู้เข้ามมากราบถวายสักการะหรือขอประทานพระกรุณาในโอกาสต่างๆ ซึ่งอาจรู้สึกประหม่ากังวลเพราะไม่เคยเข้าใกล้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สูง ได้ผ่อนคลายวิตกว่าพระองค์ทรงเป็นพระภิกษุชราสามัญธรรมดาๆ รูปหนึ่งเท่านั้น  ไม่พึงต้องหวาดเกรงใดๆ เป็นที่ซาบซึ้งชื่นใจของผู้มีโอกาสได้เฝ้าใกล้ต่างสัมผัสถึงพระเมตตาการุณยธรรมอันไพศาลได้โดยง่าย

พระสมณศักดิ์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้ง เลื่อน และสถาปนาสมณศักดิ์ ให้ไพบูลย์งอกงามในสมณฐานันดรเรื่องมาดังนี้
  • พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
  • พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี
  • พ.ศ.2533  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์
  • พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์
  • พ.ศ.2543 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฎ ที่ พระสาสนโสภณ  วิมลญาณอดุลสุนทรนายกตรีปิฏกธรรมาลังการภูษิต  ธรรมนิตยสาทรศาสนกิจจานุกร  ธรรมยุติกคณิสสร  บวรสังฆรารามคามวาสี
  • พ.ศ.2552 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ ที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต  พุทธปาพจนานุศาสน์  วาสนวรางกูร  วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฏกธรรมวราลงกรณวิภูษิต  ธรรมยุตติกคณิสสร  บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร  
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และโดยราชนีติธรรมนีติ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนา  อันหมายรวมถึงกิจการคณะสงฆ์ให้ดำรงคงมั่นไพบูลย์ในสยามรัฐสีมาตลอดมานับแต่โบราณสมัย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จผ่านพิภพสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระประมุขแห่งราชอาณาจักร เสด็จดำรงพระราชสถานะทุกประการตามรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมทรงดำเนินพระราชจรรยานุวัตรเยี่ยงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาสืบไป นับเป็นมิ่งขวัญหลักชัยของสรรพชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในรัฐสีมามณฑล

โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2560 ที่ทรงตราขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน มีความมาตรา 7 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์  ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" ปรากฏแจ้งชัดว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าจักได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่กิจการคณะสงฆ์โดยตรงตามพระบรมราชวินิจฉัย สอดคล้องสมนัยโบราณขัตติยราชนีติ

ด้วยพระราชศรัทธานุภาพ จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อมฺพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ ดำรงตำแหน่งเป็น ปฐมสกลมหาสังฆปริณายกในรัชกาลปัจจุบัน เป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ปรากฏพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สุขุมธรรมวิธานธำรง  สกลมหาสงฆปริณายก
ตรีปิฏกธราจารย  อัมพราภิธานสังฆวิสุต
ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต
วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ
ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ
พุทธบริษัทคารวสถาน  วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร
ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ  บวรธรรมบพิตร
สมเด็จพระสังฆราช


นับเป็นมหุดิฤกษ์อุดมสมัยมหามงคลแก่อาณานิกรชนชาวไทยทั้งในราชอาณาจักรและไพรัชประเทศ ผู้เป็นพุทธศาสนิกบริษัทและบรรพชิตในสังฆาณัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่จะได้มีสกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีสงฆ์ เสด็จดำรงพระสถานะตามกฏหมาย และตามโบราณราชประเพณี เสด็จสถิตที่ประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์จีนนิกาย และคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย ตลอดจนกิจการพระพุทธศาสนาทั้งน้อยและใหญ่อันเป็นไปทุกสถาน



เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นี้ เป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเป็นที่เคารพบูชาอย่างสนิทใจของมหาชนทุกหมู่เหล่าด้วยทรงมีมหาเถรกรณธรรม มั่นคงในพรหมจรรย์ สมบูรณบริสุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษ ทรงถึงพร้อมด้วยพระสุขมธรรมคัมภีรญาณในฝ่ายคันถธุระ ในขณะเดียวกันก็ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก โปรดเสด็จไปทรงปฏิบัติวิเวกสมณธรรม ณ อารามฝ่ายอรัญวาสีเป็นเนืองนิตย์ ทรงพระจริตจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถสมสมณสารูปไม่มีบกพร่อง ทรงผูกประสานน้ำใจสนิมสนมกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนาโดยไม่เลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรมและพระอุเบกขาธรรมสม่ำเสมอ มิทรงไว้พระยศถือพระองค์ ทรงพระวิริยะในเนกขัมมปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยอารีละมุนละม่อม พรั่งพร้อมด้วยพระการุณยธรรมเยือกเย็นเป็นที่สัมผัสซึ้งได้ในหมู่พุทธบริษัทผู้เคยได้เฝ้า ทรงเอาพระทัยใส่สืบสานพระปณิธานของพระมหาเถระในอดีตเพื่อทำนุบำรุงพระอารามและธำรงพระบวรพุทธศาสนามีเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบูรพาจารย์ และเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌายะ เป็นสำคัญ

พระธรรมานุธรรมปฏิบัติงามเด่นชัดฉะนั้นแล้ว สมควรแล้วที่จักได้ทรงพระสมณฐานันดรรุ่งเรืองไพโรจน์สูงสุดในพุทธจักรแห่งราชอาณาจักรไทย

แม้ในปีพุทธศักราช 2560 พระชันษาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช จักเจริญวัสสายุกาลถึง 90 ปี แต่ก็ยังปรากฏพระฉวีวรรณและพระกำลังแจ่มใส เป็นหลักชัยเฉลิมขวัญบันดาลให้พุทธศาสนิกชนยังรู้สึกอบอุ่นใจ  ได้ปีติโสมนัสกราบไหว้พระผู้ทรงเป็นบุญเขตอยู่ เราทั้งหลายผู้จักได้อาศัยพระบารมีเป็นที่พึ่ง จึงพึงปฏิบัติบำเพ็ญตนเป็นสมาชิกที่ดีของพุทธบริษัท ไม่ว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็มีหน้าที่ที่จะรักษากาย วาจา และใจของตน มิยังการอันใดที่อาจระคายพระยุคลบาทเข้ามากระทบกระเทือน  มิบิดเบือนบิดพลิ้วการคณะสงฆ์และการดำรงตนเป็นพุทธมามกะ โดยละเลยแนวทางแห่งพระอุดมปาพจน์  จงมุ่งมั่นยังการเฉพาะบนวิถีสันติวรบทเฉกเช่นที่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานธรรมวิถีและวงาพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เจริญรอยตามอยู่แล้ว ทั้งนี้ ด้วยหมายมุ่งผดุงรักษาพระองค์ให้ทรงเบาพระทัย และทรงสามารถดำรงพระสมณภาวะอันสงบงาม สมถะ เรียบง่าย ไม่วุ่นวายเอิกเกริก ไม่ต้องทรงขุ่นระคายพระหฤทัย อย่างที่ทรงเบิกบานสดใส ในวิสุทธิจริยาที่ทรงดำรงด้วยดีตลอดมาดุจเคย เพื่อทรงพระเกษมสำราญในเนกขัมมปฏิปทาสัมมาปฏิบัติเป็นมหามงคลธวัช ท่ามกลางพุทธจักรแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไปเป็นนิตยกาล

อนึ่ง ณ ศุภวารสมัยนี้ ขอพุทธบริษัททุกหมู่เหล่ารวมดวงจิตเป็นสมานฉันท์อ้างอัญเชิญคุณพระรัตนตรัยอันเป็นสรณาดิศัยบุญเขต กอปรกับกุศลเหตุทุกประการ ถวายพระพรอภิบาลให้เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญสวัสดีด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงสัมฤทธิ์ในสรรพกิจ และทรงสฤษฎ์ในพระประสงค์  ทรงพระทฤฆชนมสุขมั่นคงเป็นมิ่งขวัญแห่งพุทธจักร  ทรงพรั่งพร้อมด้วยพระบารมีไพศาลเป็นคารวสถานที่พึ่งพำนักของพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า เสด็จสถิตเป็นที่ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อยู่ฉะนี้ตราบกาลนาน เทอญ.


ทีฆายุโก  โหตุ  วีสติมสงฺฆราชา
ขอสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเจริญพระชนมสุขยั่งยืนนาน

*************************
ที่มาข้อมูล
  • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น