วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 2

อ่านตอนที่ 1

โปรดวิชาการด้านอักษรศาสตร์
นอกจากพระคุณสมบัติอันบริบูรณ์ด้านคดีธรรมแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ยังทรงพระปรีชาสามารถในสรรพศิลปวิทยาหลากสาขา ในฝ่ายธรรมคดี พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาภาษามคธ เพื่อยังประโยชน์ในการทรงพระไตรปิฏก อันเป็นการรักษาเชิดชูพระปริยัติศาสนา ในโลกคดีโดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ก็มิได้ทรงละเลย  ทรงพอพระทัยใฝ่ศึกษาฝึกผนจนชำนาญ เป็นการเกื้อหนุนให้ทรงบำเพ็ญศาสนกิจได้โดยเรียบร้อย ทรงศึกษาตามหลักสูตรและด้วยพระองค์เอง จึงสามารถทรงเข้าพระทัยและมีรับสั่งภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาจีนสำเนียงต่างๆ ซึ่งทรงมีทักษะจากการสื่อสารในครอบครัวที่ประสูติและทรงเจริญพระวัยมา รวมถึงภาษาอังกฤษ และภาษาฮินดีจากการที่ได้เสด็จไปทรงศึกษาา ณ สาธารณรัฐอินเดีย อีกทั้งทรงเข้าพระทัยและสามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศภูมิภาคอาเซียนโดยรอบ ทำให้การเผยแพร่ธรรมให้กว้างขวางเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคข้อจำกัดด้านการสื่อสาร

พระธรรมทูตผู้บุกเบิกการเผยแพร่ในเครือรัฐออสเตรเลีย
ทรงเอาพระทัยใส่รับพระธูระบุกเบิกกิจการพระธรรมทูตมานับแต่ยุคเริ่มแรก ทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์ เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแพร่ อันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์อยู่เป็นประจำ เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรสมณศักดิ์ที่ พระปริยัติกวี

วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ วัดไทยวัดแรกที่ นครซิดนีย์

ทรงรับภาระในการปกครองคณะสงฆ์
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงรับภารธุระในด้านการปกครองด้วยความเอาพระทัยใส่ในสรรพกิจอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนสุขุมคัมภีรภาพ ทำให้กิจการทั้งมวลที่ทรงบริหารจัดการเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทรงพระวิจักขณญาณหยั่งเห็นอุบายโกศลในการบริหารศาสนกิจโดยวิธีจัดสรรบุคลากรภายใต้สมณาณัติของพระองค์ให้ดำรงอยู่ตามบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม อันจะช่วยสนองพระภารกิจให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังมีตำแหน่งหน้าที่บางประการที่ทรงดำรง อาทิ
  • เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • กรรมการมหาเถรสมาคม
  • แม่กองงานพระธรรมทูต
  • ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
  • ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
  • กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
  • พระอุปัชฌาย์
  • นายกกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ทรงเอาพระทัยใส่ด้านการจัดการศึกษา
ด้วยความที่มีพระอัธยาศัยโปรดการศึกษาเล่าเรียนเป็นทุนเดิม ยังให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเอาพระทัยใส่ด้านการศึกษาทั้งคดีโลกและคดีธรรม เพื่อประโยชน์กว้างขวางทั้งแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ทั่วไป  ทรงรับเป็นอาจารย์สอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรในสำนักเรียนวัดราชบพิธมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เป็นพระมหาอัมพรตราบจนปัจจุบัน ทั้งยังทรงเป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ทั้งปวงในราชอาณาจักร รวมตลอดจนถึงการจัดการธรรมศึกษาสำหรับฆราวาส ซึ่งเจ้าพระคุณพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงวางรากฐานไว้ ก็ทรงสืบสานพระกรณียกิจนี้ต่อมา ด้วยการเป็นประธานศูนย์ธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลบุตรตามแนวทางที่เจ้าประคุณพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาาวัดราชบพิธ ยุคที่ 1 ได้ทรงรับพระบรมราโชบายของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการจัดการศึกษาแก่กุลบุตรในรูปแบบสถานศึกษา ด้วยการประทานกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน จึงทรงรับโรเรียนวัดราชบพิธไว้ในพระอุปถัมภ์สืบต่อมาจากพระบูรพาจารย์ทุกยุค

ในระดับอุดมศึกษา เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นศิษย์เก่าและเคยทรงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ก็ทรงเอาพระธุระบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้รุ่งเรือไพบูลย์ยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย


22 ก.ย.2559 เจ้าประคุณฯ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัย ประธานฝ่ายสงฆ์ ฯ
ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ ณ วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
 ณ วัดป่าทรงคุณ ต.ดงพระราม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
ที่มาของภาพ : http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC5909220010193

พระคุณูปการด้านการเผยแผ่
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชมีพระปรีชาสามารถในการแสดงธรรมด้วยปฏิญาณ  จึงได้ทรงเป็นธรรมกถึกแสดงธรรมประจำวันธรรมสวนะแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้มารักษาศีลปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ทั้งยังโปรดประทานพระอนุศาสนีสั่งสอนธรรมแก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าที่มีโอกาสเข้าเฝ้า ด้วยพระโวหารที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงบุคคลได้ทุกระดับ ธรรมที่แสดงนั้นมีตั้งแต่พื้นฐานมนระดับโลกียะเพื่อความผาสุกแก่การดำรงตนในครอบครัวและสังคม ตลอดถึงระดับโลกุตระเพื่อความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ตามอริยมรรคของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากผู้เข้ามาสนทนากับพระองค์เป็นเด็กและเยาวชน ก็โปรดประทานพระโอวาทด้วยถ้อยคำง่ายๆ และมักจะทรงสอนศาสนพิธีเบื้องต้น เช่น การไหว้ การกราบ การประเคน พร้อมประทานออรถาธิบายเหตุผลประกอบให้เข้าใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของการดำรงตนต่อไปเมื่อเติบใหญ่

ส่วนการเผยแผ่ในระดับสากล เข้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการพระะรรมทูตรุ่นบุกเบิกมาตั้งแต่ต้น แม้เมื่อทรงเจริญพระสมณฐานันดรสูลแล้วก็มิได้ทรงทอดทิ้ง กลับยิ่งทรงพระอุตสาหะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ลงหลักปักฐานมั่นคงในดินแดนต่างประเทศ ทรงเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเถรวาทจากประเทศไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์  เครือรัฐออสเตรเลีย เป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2516 จากนั้นก็ทรงอุปการะกิจการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด ทรงเ็นประธานรับถวายที่ดินจากรัฐบาลดาร์วินเพื่อสร้างวัดป่าดาร์วิน ในประเทศออสเตรเลีย และทรงเป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต สร้างพระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ พระบามสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ วัดธัมมธโร กรุงงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย

นอกจากนั้น ยังทรงเป็นผู้แทนมหาเถรสมาคม ในการจัดการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เช่น การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นผู้แทนประสานสัมพันธไมตรีทางพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศบังกลาเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

พระกรณียกิจด้านสาธารณูปการ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานควบคุมดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธ ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 5 ด้วยพระอุตสาหะวิริยภาพมาโดยตลอด ทำให้พระอารามมีความสง่างามมั่นคงเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งบุคคลภายในและบุคคลภายนอกได้อย่างสมพระบรมราชปณิธาน

นอกจากวัดราชบพิธอันเป็นที่ประทับและที่พำนักของพระบูรพาจารย์และของพระองค์แล้ว ยังทรงพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสำนักอันเป็นที่ทรงเคยศึกษาเล่าเรียนและประทับเมื่อครั้งทรงพะเยาว์ จึงทรงเป็นประธานจัดหาทุนซ่อมแซมอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ กุฎี และเสนาสนะต่างๆ ของวัดตรีญาติ จ.ราชบุรี ซึ่งเคยทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ ที่นั้น รวมถึงวัดอื่นๆ ตามที่ทรงรับไว้ในพระอุปการะอีกหลายแห่ง

ทรงสืบสานกุศลเจตนาปรารภขอเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี บูรพาจารย์ของพระองค์ด้วยความกตัญญูกตเวที เช่น ทรงเป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม ต.ตาก้อง อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ทรงเป็นประธานสร้างหอจินตากรมหาเถระ ที่วัดเชตวัน จ.ลำปาง เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี เจริญอายุ 8 รอบนักษัตร

อ่านต่อตอนที่ 3


***************************

ที่มาข้อมูล
  • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น