วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประวัติผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ท่านที่ 54 นายชยาวุธ จันทร





















ชื่อ นายชยาวุธ จันทร 
ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ท่านที่ 54
วันเดือนปีเกิด  18 ต.ค.2507
ภูมิลำเนา 
368/13 ซ.รัชดาภิเษก 42 (แยก 8) แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 ต.ค.2560

ด้านการศึกษา

  • ประถมศึกษาปีที่ 3 รร.วีระศิลป์ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
  • ประถมศึกษาปีที่ 4 รร.ดรุณาราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี
  • มัธยมศึกษา รร.สาธิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน (สอบเทียบ ม.ศ.5)
  • รัฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นิติศาสตร์บัณฑิต สุโขทัยธรรมาธิราช
  • พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • หลักสูตรปลัดอำเภอ รุ่นที่104
  • หลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 43
  • หลักสูตรนักปกครองระดับสูงรุ่นที่ 47
  • หลักสูตรรักษาความปลอดภัยรุ่นที่ 47
ด้านรับราชการ

  • พ.ศ.2528 บุคลากร 3 กรมเจ้าท่า
  • พ.ศ.2529 จนท.วิเคราะห์งานบุคคล 3 สนง.กพ.
  • พ.ศ.2531 กรมการปกครอง
  • พ.ศ.2534 เจ้าพนักงานปกครอง จ.พระนครศรีอยุธยา 
  • พ.ศ.2535 เจ้าพนักงานปกครอง จ.พัทลุง
  • พ.ศ.2539 หน.งานหัวหน้างานบุคคล กรมการปกครอง
  • พ.ศ.2540 หน.ฝ่ายบำรุงท้องที่ กรมการปกครอง
  • พ.ศ.2543 หน.ฝ่าย 3 ส่วนความมั่นคง สำนักประสานงานมวลชน กรมการปกครอง
  • พ.ศ.2544 ปลัดอำเภอ หน.ฝ่ายปกครอง อ.เมืองราชบุรี
  • พ.ศ.2545 นายอำเภอวาริชภูมิ จ.สกลนคร
  • พ.ศ.2547 นายอำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา
  • พ.ศ.2548 รักษาการ ผอ.กองสารนิเทศ
  • พ.ศ.2549 รักษาการ ผอ.สถาบันดำรงราชานุภาพ
  • พ.ศ.2551 ปลัด จ.นครนายก
  • พ.ศ.2553 รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร
  • พ.ศ.2555 รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
  • พ.ศ.2556 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
  • พ.ศ.2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
  • พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
  • พ.ศ.2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • พ.ศ.2563 รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน
    **********************************
    อ่านต่อ >>

    วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

    ประวัติผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ท่านที่ 53 นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม



    ชื่อ-สกุล : นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม
    ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ท่านที่ 53
    วัน/เดือน/ปีเกิด : 23 กรกฎาคม 2510
    ภูมิลำเนา กรุงเทพมหานคร
    ดำรงตำแหน่งเมื่อ 4 เมษายน 2560

    ประวัติการดำรงตำแหน่ง

    • ปี 2535-2546 ปลัดอำเภอ จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย ขอนแก่น นครราชสีมา
    • ปี 2547-2551 ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์
    • ปี 2551 - 2555 ท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา
    • ปี 2555 - 2557 ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    • ปี 2557 - 2558 หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย
    • ปี 2558 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
    • ปี 2558 - 2559 รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    • ปี 2559 - 2560 ที่ปรึกษาด้านการปกครองสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
    • ปี 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี 

    ประวัติการศึกษา : 
    • รัฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (การปกครอง) จุฬษลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    การอบรม/ศึกษาดูงาน :
    • หลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 49 
    • หลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 51 (นักศึกษาดีเด่น)
    • การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 17
    • หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (Top Executive Program in Commerce and Trade : TEPCoT)  รุ่นที่ 9     
    **************************



    อ่านต่อ >>

    วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

    พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 3

    อ่านตอนที่ 1
    อ่านตอนที่ 2

    ต่อจากตอนที่ 2

    น้ำพระทัยด้านการสาธารณสงเคราะห์
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงอุปการะกิจการสาธารณสงเคราะห์เพื่อพหูชนทั้งอันโตชนและพาหิรชนไว้เป็นอันมาก อาทิ
    • มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
    • โรงเรียนวัดราชบพิธ 
    • โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จ.พระนครศรีอยุธยา 
    • ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศน์ จ.พระนครศรีอยุธยา
    • มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
    • มูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
    โดยมิได้เพียงแต่ประทานพระนามไว้ว่าทรงอุปถัมภ์เฉพาะเป็นเกียรติยศแก่องค์กร หากยังได้ทรงพระเมตตาประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา ทุนสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยที่ขาดแคลนและทุนค้ำจุนดูแลชีวิตของผู้สูงอายุให้มีความสุขตามอัตภาพในวัยชรา มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อันเป็นการเจริญรอยพระจริยาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระอุปัชฌายะผู้มีน้ำพระทัยใฝ่การสาธารณสงเคราะห์เช่นนี้ เป็นแบบอย่างอันดีมานับแต่ก่อนกาล

    อนึ่ง เมื่อเกิดพิบัติภัยต่างๆ ขึ้นในบ้านเมือง เช่น วาตภัย  อุทกภัย  ธรณีพิบัติภัย หรือภัยแล้ง ก็ได้ทรงเป็นผู้นำรวบรวมทุนทรัพย์และสิ่งของจากพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนนิกชนทั้งหลายเพื่อบริจาคสงเคราะห์ผู้ประสบภัยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง

    วิถีพระปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระ
    นอกจากพระปฏิปทาด้านคันถธุระที่ทรงบำเพ็ญไว้ด้วยดีแล้ว ยังทรงพอพระทัยในวัตรปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน โปรดเสด็จไปทรงบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอ  โดยเฉพาะกับพระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร ซึ่งทรงเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทำให้ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับพระวิปัสสนาจารย์และพระภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมสายพระกรรมฐานสืบมาตราบจนปัจจุบัน  แม้เมื่อพระอาจารย์ฝั้นถึงมรณภาพไปแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็ยังเสด็จไปทรงร่วมศาสนกิจต่างๆ อันจัดขึ้นในหมู่สงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีและวิปัสสนาธุระอยู่เนืองๆ พร้อมทั้งทรงรับเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ด้วย

    แม้เมื่อพระองค์ประทับในกรุงเทพมหานคร ก็ยังทรงเจริญจิตภาวนาเป็นการภายในที่ประทับเสมอ  และหากเป็นวาระสำคัญ เช่น ดิถีมาฆบูชา วิสาขบูชา  อัฐมีบูชา อาสาฬหบูชา  หรือกำหนดการพิเศษของทางราชการ ก็โปรดเสด็จลงทรงนำพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาวัดราชบพิธเจริญจิตภาวนาทุกครั้งตามที่พระอนามัยอำนวย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันบูชาพิเศษทางพระพุทธศาสนา จะเสด็จลงพระอุโบสถเพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทรงบำเพ็ญสมาธิ และทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ต่อเนื่องถือเนสัชชิกบำเพ็ญเพียรข้ามราตรีตลอดรุ่งร่วมกับพุทธบริษัท ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ  ตามธรรมเนียมของพระอาราม

    สมเด้จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20
    ครั้งไปศึกษาธรรมกรรมฐาน กับหลวงตามหาบัว
    วัดป่าบ้านตาดและถ้ำมะขามหลวงปู่ฝั้น
    ผู้ถ่าย/เจ้าของภาพ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20
    ผู้ถ่าย/เจ้าของภาพ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน

    พระปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ทรงครองเนกขัมมปฏิปทาพรหมจริยาภิรัตอย่างบริบูรณ์ ปราศจากข้อสงสัยเคลือบแคลง พระองค์มีอุปนิสัยเรียบร้อย อ่อนโยน สมถะ สันโดษ เรียบง่าย มักน้อย  ไม่ทรงหลงใหลในยศและลาภสักการะ ไม่โปรดลักษณะหรูหราฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย  ไม่มีพระประสงค์ด้านการตกแต่งประดับประดาที่ประทับและบรรดาสมณบริขารด้วยวัตถุอนามาสหรือของวิจิตรอลังการ ไม่โปรดทรงใช้สอยสิ่งของที่มีรูปแบบและสีสันฉูดฉาดบาดตาเกินสมณสารูป ทรงมัธยัสถ์และโปรดใช้วัตถุปัจจัยสิ่งของต่างๆ อย่างคุ้มค่า หากไม่ชำรุดสิ้นสภาพจริงๆ ก็จะไม่ทรงทิ้ง ในขณะที่การอันใดที่เกี่ยวข้องกับความประณีตงดงามของพระอารามและการถวายพุทธบูชาในพระบวรพระพุทธศาสนา จะทรงเอาพระทัยใส่ในรายละเอียด ประทานพระมติแนะนำการตั้งแต่งอย่างรอบคอบและเหมาะสม  ให้สมกับเป็นของบูชาในพระศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงถือข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ด่างพร้อย  ทรงเอาพระทัยใส่กวดขันพระภิกษุสามเณรในปกครองให้วางตนภายในกรอบของพระธณรมวินัยดุจเดียวกับที่ทรงวางพระองค์  ทรงบริหารพระเดชและพระคุณอย่างได้ดุลยภาพลงตัว แม้จะทรงเข้มงวดกวดขันในพระธรรมวินัยกับพระภิกษุสามเณร  แต่ก็เป็นไปด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม

    พระองค์มักทรงกำชับและเป็นเนติแบบอย่างให้บรรพชิตมีจรรยามารยาททางกายและวาจาให้เรียบร้อยตามพระวินัยบัญญัติและอย่างสมบัติของผู้ดีที่โลกนิยม อันเป็นแนวทางที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะทรงวางแบบไว้ เพื่อให้สะท้อนถึงความประณีตภาในจิตใจด้วย ทั้งนี้ทรงเน้นย้ำเรื่องการครองตนทั้งกาย วาจา และใจ ให้งดงามตามระเบียบวิถีของทางโลกและทางธรรมย่อมยังให้มหาชนทั้งปวงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาสมกับเป็นสมาชิกของพุทธบริษัท เท่ากับเป็นการรักษาพระศาสนาให้มั่นคงสืบไปด้วย

    เจ้าพระคุณสมเด็พระสังฆราช มีพระคุณลักษณะเด่นอีกประการ คือ ทรงมีจริยาการสดใสเบิกบาน ทรงแย้มพระสรวลละไมเป็นนิตย์ โปรดมีพระปฏิสันถารโอภาปราศรัยกับผู้คนทั่วไปทุกชั้นทุกวัย ไม่มีพระอาการปั้นปึ่งไว้พระยศ ไม่วางพระรัศมีข่มผู้ใดด้วยความมานะถือพระองค์  แม้เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว ก็มักมีรับสั่งให้ผู้เข้ามมากราบถวายสักการะหรือขอประทานพระกรุณาในโอกาสต่างๆ ซึ่งอาจรู้สึกประหม่ากังวลเพราะไม่เคยเข้าใกล้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สูง ได้ผ่อนคลายวิตกว่าพระองค์ทรงเป็นพระภิกษุชราสามัญธรรมดาๆ รูปหนึ่งเท่านั้น  ไม่พึงต้องหวาดเกรงใดๆ เป็นที่ซาบซึ้งชื่นใจของผู้มีโอกาสได้เฝ้าใกล้ต่างสัมผัสถึงพระเมตตาการุณยธรรมอันไพศาลได้โดยง่าย

    พระสมณศักดิ์
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้ง เลื่อน และสถาปนาสมณศักดิ์ ให้ไพบูลย์งอกงามในสมณฐานันดรเรื่องมาดังนี้
    • พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
    • พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี
    • พ.ศ.2533  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์
    • พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์
    • พ.ศ.2543 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฎ ที่ พระสาสนโสภณ  วิมลญาณอดุลสุนทรนายกตรีปิฏกธรรมาลังการภูษิต  ธรรมนิตยสาทรศาสนกิจจานุกร  ธรรมยุติกคณิสสร  บวรสังฆรารามคามวาสี
    • พ.ศ.2552 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ ที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต  พุทธปาพจนานุศาสน์  วาสนวรางกูร  วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฏกธรรมวราลงกรณวิภูษิต  ธรรมยุตติกคณิสสร  บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร  
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และโดยราชนีติธรรมนีติ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนา  อันหมายรวมถึงกิจการคณะสงฆ์ให้ดำรงคงมั่นไพบูลย์ในสยามรัฐสีมาตลอดมานับแต่โบราณสมัย

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จผ่านพิภพสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระประมุขแห่งราชอาณาจักร เสด็จดำรงพระราชสถานะทุกประการตามรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมทรงดำเนินพระราชจรรยานุวัตรเยี่ยงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาสืบไป นับเป็นมิ่งขวัญหลักชัยของสรรพชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในรัฐสีมามณฑล

    โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2560 ที่ทรงตราขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน มีความมาตรา 7 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์  ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" ปรากฏแจ้งชัดว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าจักได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่กิจการคณะสงฆ์โดยตรงตามพระบรมราชวินิจฉัย สอดคล้องสมนัยโบราณขัตติยราชนีติ

    ด้วยพระราชศรัทธานุภาพ จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อมฺพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ ดำรงตำแหน่งเป็น ปฐมสกลมหาสังฆปริณายกในรัชกาลปัจจุบัน เป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ปรากฏพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า


    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    สุขุมธรรมวิธานธำรง  สกลมหาสงฆปริณายก
    ตรีปิฏกธราจารย  อัมพราภิธานสังฆวิสุต
    ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต
    วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ
    ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ
    พุทธบริษัทคารวสถาน  วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร
    ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ  บวรธรรมบพิตร
    สมเด็จพระสังฆราช


    นับเป็นมหุดิฤกษ์อุดมสมัยมหามงคลแก่อาณานิกรชนชาวไทยทั้งในราชอาณาจักรและไพรัชประเทศ ผู้เป็นพุทธศาสนิกบริษัทและบรรพชิตในสังฆาณัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่จะได้มีสกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีสงฆ์ เสด็จดำรงพระสถานะตามกฏหมาย และตามโบราณราชประเพณี เสด็จสถิตที่ประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์จีนนิกาย และคณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย ตลอดจนกิจการพระพุทธศาสนาทั้งน้อยและใหญ่อันเป็นไปทุกสถาน



    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นี้ เป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเป็นที่เคารพบูชาอย่างสนิทใจของมหาชนทุกหมู่เหล่าด้วยทรงมีมหาเถรกรณธรรม มั่นคงในพรหมจรรย์ สมบูรณบริสุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษ ทรงถึงพร้อมด้วยพระสุขมธรรมคัมภีรญาณในฝ่ายคันถธุระ ในขณะเดียวกันก็ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก โปรดเสด็จไปทรงปฏิบัติวิเวกสมณธรรม ณ อารามฝ่ายอรัญวาสีเป็นเนืองนิตย์ ทรงพระจริตจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถสมสมณสารูปไม่มีบกพร่อง ทรงผูกประสานน้ำใจสนิมสนมกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนาโดยไม่เลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรมและพระอุเบกขาธรรมสม่ำเสมอ มิทรงไว้พระยศถือพระองค์ ทรงพระวิริยะในเนกขัมมปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยอารีละมุนละม่อม พรั่งพร้อมด้วยพระการุณยธรรมเยือกเย็นเป็นที่สัมผัสซึ้งได้ในหมู่พุทธบริษัทผู้เคยได้เฝ้า ทรงเอาพระทัยใส่สืบสานพระปณิธานของพระมหาเถระในอดีตเพื่อทำนุบำรุงพระอารามและธำรงพระบวรพุทธศาสนามีเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบูรพาจารย์ และเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌายะ เป็นสำคัญ

    พระธรรมานุธรรมปฏิบัติงามเด่นชัดฉะนั้นแล้ว สมควรแล้วที่จักได้ทรงพระสมณฐานันดรรุ่งเรืองไพโรจน์สูงสุดในพุทธจักรแห่งราชอาณาจักรไทย

    แม้ในปีพุทธศักราช 2560 พระชันษาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช จักเจริญวัสสายุกาลถึง 90 ปี แต่ก็ยังปรากฏพระฉวีวรรณและพระกำลังแจ่มใส เป็นหลักชัยเฉลิมขวัญบันดาลให้พุทธศาสนิกชนยังรู้สึกอบอุ่นใจ  ได้ปีติโสมนัสกราบไหว้พระผู้ทรงเป็นบุญเขตอยู่ เราทั้งหลายผู้จักได้อาศัยพระบารมีเป็นที่พึ่ง จึงพึงปฏิบัติบำเพ็ญตนเป็นสมาชิกที่ดีของพุทธบริษัท ไม่ว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็มีหน้าที่ที่จะรักษากาย วาจา และใจของตน มิยังการอันใดที่อาจระคายพระยุคลบาทเข้ามากระทบกระเทือน  มิบิดเบือนบิดพลิ้วการคณะสงฆ์และการดำรงตนเป็นพุทธมามกะ โดยละเลยแนวทางแห่งพระอุดมปาพจน์  จงมุ่งมั่นยังการเฉพาะบนวิถีสันติวรบทเฉกเช่นที่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานธรรมวิถีและวงาพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เจริญรอยตามอยู่แล้ว ทั้งนี้ ด้วยหมายมุ่งผดุงรักษาพระองค์ให้ทรงเบาพระทัย และทรงสามารถดำรงพระสมณภาวะอันสงบงาม สมถะ เรียบง่าย ไม่วุ่นวายเอิกเกริก ไม่ต้องทรงขุ่นระคายพระหฤทัย อย่างที่ทรงเบิกบานสดใส ในวิสุทธิจริยาที่ทรงดำรงด้วยดีตลอดมาดุจเคย เพื่อทรงพระเกษมสำราญในเนกขัมมปฏิปทาสัมมาปฏิบัติเป็นมหามงคลธวัช ท่ามกลางพุทธจักรแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไปเป็นนิตยกาล

    อนึ่ง ณ ศุภวารสมัยนี้ ขอพุทธบริษัททุกหมู่เหล่ารวมดวงจิตเป็นสมานฉันท์อ้างอัญเชิญคุณพระรัตนตรัยอันเป็นสรณาดิศัยบุญเขต กอปรกับกุศลเหตุทุกประการ ถวายพระพรอภิบาลให้เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญสวัสดีด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงสัมฤทธิ์ในสรรพกิจ และทรงสฤษฎ์ในพระประสงค์  ทรงพระทฤฆชนมสุขมั่นคงเป็นมิ่งขวัญแห่งพุทธจักร  ทรงพรั่งพร้อมด้วยพระบารมีไพศาลเป็นคารวสถานที่พึ่งพำนักของพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า เสด็จสถิตเป็นที่ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อยู่ฉะนี้ตราบกาลนาน เทอญ.


    ทีฆายุโก  โหตุ  วีสติมสงฺฆราชา
    ขอสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ทรงเจริญพระชนมสุขยั่งยืนนาน

    *************************
    ที่มาข้อมูล
    • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 
    อ่านต่อ >>

    วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

    พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 2

    อ่านตอนที่ 1

    โปรดวิชาการด้านอักษรศาสตร์
    นอกจากพระคุณสมบัติอันบริบูรณ์ด้านคดีธรรมแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ยังทรงพระปรีชาสามารถในสรรพศิลปวิทยาหลากสาขา ในฝ่ายธรรมคดี พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาภาษามคธ เพื่อยังประโยชน์ในการทรงพระไตรปิฏก อันเป็นการรักษาเชิดชูพระปริยัติศาสนา ในโลกคดีโดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ก็มิได้ทรงละเลย  ทรงพอพระทัยใฝ่ศึกษาฝึกผนจนชำนาญ เป็นการเกื้อหนุนให้ทรงบำเพ็ญศาสนกิจได้โดยเรียบร้อย ทรงศึกษาตามหลักสูตรและด้วยพระองค์เอง จึงสามารถทรงเข้าพระทัยและมีรับสั่งภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาจีนสำเนียงต่างๆ ซึ่งทรงมีทักษะจากการสื่อสารในครอบครัวที่ประสูติและทรงเจริญพระวัยมา รวมถึงภาษาอังกฤษ และภาษาฮินดีจากการที่ได้เสด็จไปทรงศึกษาา ณ สาธารณรัฐอินเดีย อีกทั้งทรงเข้าพระทัยและสามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศภูมิภาคอาเซียนโดยรอบ ทำให้การเผยแพร่ธรรมให้กว้างขวางเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคข้อจำกัดด้านการสื่อสาร

    พระธรรมทูตผู้บุกเบิกการเผยแพร่ในเครือรัฐออสเตรเลีย
    ทรงเอาพระทัยใส่รับพระธูระบุกเบิกกิจการพระธรรมทูตมานับแต่ยุคเริ่มแรก ทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์ เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแพร่ อันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์อยู่เป็นประจำ เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรสมณศักดิ์ที่ พระปริยัติกวี

    วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ วัดไทยวัดแรกที่ นครซิดนีย์

    ทรงรับภาระในการปกครองคณะสงฆ์
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงรับภารธุระในด้านการปกครองด้วยความเอาพระทัยใส่ในสรรพกิจอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนสุขุมคัมภีรภาพ ทำให้กิจการทั้งมวลที่ทรงบริหารจัดการเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทรงพระวิจักขณญาณหยั่งเห็นอุบายโกศลในการบริหารศาสนกิจโดยวิธีจัดสรรบุคลากรภายใต้สมณาณัติของพระองค์ให้ดำรงอยู่ตามบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม อันจะช่วยสนองพระภารกิจให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังมีตำแหน่งหน้าที่บางประการที่ทรงดำรง อาทิ
    • เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
    • กรรมการมหาเถรสมาคม
    • แม่กองงานพระธรรมทูต
    • ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
    • ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
    • กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
    • พระอุปัชฌาย์
    • นายกกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ทรงเอาพระทัยใส่ด้านการจัดการศึกษา
    ด้วยความที่มีพระอัธยาศัยโปรดการศึกษาเล่าเรียนเป็นทุนเดิม ยังให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเอาพระทัยใส่ด้านการศึกษาทั้งคดีโลกและคดีธรรม เพื่อประโยชน์กว้างขวางทั้งแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ทั่วไป  ทรงรับเป็นอาจารย์สอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรในสำนักเรียนวัดราชบพิธมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เป็นพระมหาอัมพรตราบจนปัจจุบัน ทั้งยังทรงเป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ทั้งปวงในราชอาณาจักร รวมตลอดจนถึงการจัดการธรรมศึกษาสำหรับฆราวาส ซึ่งเจ้าพระคุณพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงวางรากฐานไว้ ก็ทรงสืบสานพระกรณียกิจนี้ต่อมา ด้วยการเป็นประธานศูนย์ธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

    ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลบุตรตามแนวทางที่เจ้าประคุณพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาาวัดราชบพิธ ยุคที่ 1 ได้ทรงรับพระบรมราโชบายของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการจัดการศึกษาแก่กุลบุตรในรูปแบบสถานศึกษา ด้วยการประทานกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน จึงทรงรับโรเรียนวัดราชบพิธไว้ในพระอุปถัมภ์สืบต่อมาจากพระบูรพาจารย์ทุกยุค

    ในระดับอุดมศึกษา เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นศิษย์เก่าและเคยทรงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ก็ทรงเอาพระธุระบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้รุ่งเรือไพบูลย์ยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย


    22 ก.ย.2559 เจ้าประคุณฯ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัย ประธานฝ่ายสงฆ์ ฯ
    ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ ณ วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
     ณ วัดป่าทรงคุณ ต.ดงพระราม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
    ที่มาของภาพ : http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC5909220010193

    พระคุณูปการด้านการเผยแผ่
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชมีพระปรีชาสามารถในการแสดงธรรมด้วยปฏิญาณ  จึงได้ทรงเป็นธรรมกถึกแสดงธรรมประจำวันธรรมสวนะแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้มารักษาศีลปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ทั้งยังโปรดประทานพระอนุศาสนีสั่งสอนธรรมแก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าที่มีโอกาสเข้าเฝ้า ด้วยพระโวหารที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงบุคคลได้ทุกระดับ ธรรมที่แสดงนั้นมีตั้งแต่พื้นฐานมนระดับโลกียะเพื่อความผาสุกแก่การดำรงตนในครอบครัวและสังคม ตลอดถึงระดับโลกุตระเพื่อความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ตามอริยมรรคของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากผู้เข้ามาสนทนากับพระองค์เป็นเด็กและเยาวชน ก็โปรดประทานพระโอวาทด้วยถ้อยคำง่ายๆ และมักจะทรงสอนศาสนพิธีเบื้องต้น เช่น การไหว้ การกราบ การประเคน พร้อมประทานออรถาธิบายเหตุผลประกอบให้เข้าใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของการดำรงตนต่อไปเมื่อเติบใหญ่

    ส่วนการเผยแผ่ในระดับสากล เข้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการพระะรรมทูตรุ่นบุกเบิกมาตั้งแต่ต้น แม้เมื่อทรงเจริญพระสมณฐานันดรสูลแล้วก็มิได้ทรงทอดทิ้ง กลับยิ่งทรงพระอุตสาหะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ลงหลักปักฐานมั่นคงในดินแดนต่างประเทศ ทรงเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเถรวาทจากประเทศไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์  เครือรัฐออสเตรเลีย เป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2516 จากนั้นก็ทรงอุปการะกิจการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด ทรงเ็นประธานรับถวายที่ดินจากรัฐบาลดาร์วินเพื่อสร้างวัดป่าดาร์วิน ในประเทศออสเตรเลีย และทรงเป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต สร้างพระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ พระบามสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ วัดธัมมธโร กรุงงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย

    นอกจากนั้น ยังทรงเป็นผู้แทนมหาเถรสมาคม ในการจัดการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เช่น การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นผู้แทนประสานสัมพันธไมตรีทางพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศบังกลาเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จัดขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

    พระกรณียกิจด้านสาธารณูปการ
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานควบคุมดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธ ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 5 ด้วยพระอุตสาหะวิริยภาพมาโดยตลอด ทำให้พระอารามมีความสง่างามมั่นคงเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งบุคคลภายในและบุคคลภายนอกได้อย่างสมพระบรมราชปณิธาน

    นอกจากวัดราชบพิธอันเป็นที่ประทับและที่พำนักของพระบูรพาจารย์และของพระองค์แล้ว ยังทรงพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสำนักอันเป็นที่ทรงเคยศึกษาเล่าเรียนและประทับเมื่อครั้งทรงพะเยาว์ จึงทรงเป็นประธานจัดหาทุนซ่อมแซมอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ กุฎี และเสนาสนะต่างๆ ของวัดตรีญาติ จ.ราชบุรี ซึ่งเคยทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ ที่นั้น รวมถึงวัดอื่นๆ ตามที่ทรงรับไว้ในพระอุปการะอีกหลายแห่ง

    ทรงสืบสานกุศลเจตนาปรารภขอเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี บูรพาจารย์ของพระองค์ด้วยความกตัญญูกตเวที เช่น ทรงเป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม ต.ตาก้อง อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ทรงเป็นประธานสร้างหอจินตากรมหาเถระ ที่วัดเชตวัน จ.ลำปาง เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี เจริญอายุ 8 รอบนักษัตร

    อ่านต่อตอนที่ 3


    ***************************

    ที่มาข้อมูล
    • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 
    อ่านต่อ >>

    พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1

    พระประวัติ
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



    อักษรพระนามย่อ ออป.
    อ.(อัมพร) สีแดง เป็นสีประจำวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันประสูติ
    อ.(อมฺพโร) สีเหลืองเป็นสีของกาสาวพัสตร์ หมายถึง พระสมณคุณและยังเป็ฯสีของพระอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย
    ป.(ประสตถพงศ์) สีเทาฟ้า เป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพระชาติภูมิ

    อักษร ออป ผูกกันในรูปโล่ตามรูปแบบเดียวกับอักษรพระนามของ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถน) พระอุปัชฌายะ

    กางกั้นด้วยพระเศวตฉัตร 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายสองชั้นขลิบทองแผ่ลวดห้อยอุบะจำปาทอง เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราช


    พระชาติภูมิ-พระประสูติกาล
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า "อัมพร  ประสัตถพงศ์" เป็นบุตรชายคนโตในจำนวน 9 คน ของนายนับ กับ นางตาล ประสัตถพงศ์ ประสูติที่บ้าน ตำบลบางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ เวลา 5 นาฬิกา ตรงกับสุริยคติที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ครอบครัวของพระชนกชนนีเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบอาชีพค้าขาย

    18 เม.ย. 2560
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    เสด็จยังบ้านประสัตถพงศ์ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
    ทรงบำเพ็ญพระกุศลและทรงสักการะอัฐิพระชนกชนนี
    โดยมี 
    นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เฝ้ารับเสด็จ 

    ภาพโดย สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ราชบุรี



    การทรงพระอักษรเบื้องต้น
    ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่ โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2480 


    เด็กชายอัมพรหรือสมเด็จพระสังฆราชในพระปฐมวัยนั้น ทรงฉายแววฉลาดเฉลียวและเอาใจใส่การเรียนอย่างยิ่ง ทรงสามารถสอบไล่ได้คะแนนสูงสุดในชั้นเรียนไม่เคยต่ำกว่าอันดับที่ 3 ของแต่ละชั้นเป็นประจำทุกปี


    ทรงบรรพชา-ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
    เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระอนามัยไม่สู้ดี มีโรคเกี่ยวกับลำไส้เข้าเบียดเบียน พระบุพการีจึงอธิษฐานบนบานขอให้เด็กชายอัมพรได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อให้หายจากอาการเจ็บป่วย เมื่อพระชันษา 13 ปี จึงได้ทรงเข้าบรรพชา ณ วัดสัตนนาถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ 

    แต่เดิมทรงตั้งพระทัยจะบรรพชาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วจำลาสิกขา แต่พระบุพการีของร้องให้ดำรงสมณเพศต่อไป จึงเป็นเหตุให้ได้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีสืบมา

    เมื่อทรงเป็นสามเณร ได้เสด็จไปทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถ์ สุมิตฺโต (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีธรรมานุศาสน์ เจ้าคณะอำเภอเมือง-บางแพ ณ วัดตรีญาติ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี ) ทรงสอบได้ประโยคนักธรรมและบาลีชั้นต่างๆ ในสำนักเรียนวัดตรีญาติ ดังนี้
    • พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
    • พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท
    • พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญ
    • พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

    เสด็จเข้าพระนคร-ทรงอุปสมบท
    เมื่อ พ.ศ.2490 ได้ทรงพบกับ พระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี) เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ตระหนักเห็นคุณสมบัติอันดีของสามเณรอัมพร เปรียญ จึงชักชวนเข้ามาพำนักเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ครั้นตกลงแล้ว สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี จึงได้พามาถวายไว้ใต้พระบารมีของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระราชกวี   

    ครั้นถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า "อมฺพโร" โดยมี
    • สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็นสมเด็จพระอุปัชฌายะ
    • สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (จินฺตากรเถร) ขณะมีสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    เมื่ออุปสมบทแล้ว พระมหาอัมพร อมฺพโร ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบางลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนสำเร็จอีก 2 ประโยค
    • พ.ศ.2491 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
    • พ.ศ.2493 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

    ทรงเข้าศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัย
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช มีพระอัธยาศัยโปรดด้านการศึกษาเล่าเรียนทั้งธรรมคดีและโลกคดีรอบด้าน ได้ทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏ ในปัจจุบัน) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 สำเร็จปริญญา "ศาสนศาสตรบัณฑิต" เมื่อ พ.ศ.2500 ต่อมาใน พ.ศ.2509 ได้ทรงเข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก นับได้ว่าทรงวางพระองค์เป็นพระภิกษุที่มั่นคงอยู่ในวิถีการศึกษาเล่าเรียนตามจารีตเดิม คือการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี ผสานเข้ากับการศึกษาของพระภิกษุในสมัยใหม่ คือ การศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยและเปิดโลกทัศน์การเผยแพร่สู่สากลด้วยการเป็นพระธรรมทูตยุคบุกเบิกได้ลงตัว

    นอกจากนั้น ยังมีพระทัยใฝ่ศึกษาด้านภาษาศาสตร์ โปรดทรงเรียนพิเศษภาคปฏิบัติการสื่อสารภาษาอังกฤษกับพระอาจารย์ชาวต่างชาติเพิ่มเติม ทำให้ทรงสามารถตรัสภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ธรรมไปสู่มหาชนทุกหมู่เหล่า

    อนึ่ง ในกาลต่อมา พระกิตติคุณได้ปรากฏเพิ่มพูนเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จึงมีมติถวายปริญญา "ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์" เมื่อ พ.ศ.2552 และ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีมติถวายปริญญา "พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาธรรมนิเทศ" เมื่อ พ.ศ.2553 อีกด้วย

    เสด็จทรงไปศึกษาในต่างประเทศ
    หลังจากทรงสำเร็จหลักสูตรการอบรมพระะรรมทูตแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2510 เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย ทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2512 นับเป็นพระภิกษุไทยรุ่นแรกๆ ที่เดินทางไปเล่าเรียนวิชาการชั้นสูงตามหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ

    อ่านต่อตอนที่ 2

    *****************
    ที่มาข้อมูล

    • หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จัดพิมพ์โดย คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2560  พิมพ์ที่ นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย 
    อ่านต่อ >>