วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นายพิเศษ สงเคราะห์..คนเลี้ยงปลาโพธาราม เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2554

ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2554 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ.2554 มีชาวจังหวัดราชบุรี ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 2 ท่านคือ
  1. นายประยูร วิสุทธิไพศาล สาขาอาชีพพืชสวน
  2. นายพิเศษ สงเคราะห์ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ

นายพิเศษ  สงเคราะห์
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2554 สาขาเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ
อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 1 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การศึกษา ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาการประมง สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

นายพิเศษฯ เป็นเกษตรกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทำให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรมีความสำคัญ สามารถอยู่คู่กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ปี พ.ศ.2543 ก็ได้ดำเนินกิจการเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งเป็นกิจการเดิมของครอบครัวต่อจากคุณตา ขนาดของฟาร์มขณะนั้นไม่ใหญ่มากนัก โดยมีความคิดว่าตนเองมีความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากการศึกษามา น่าจะนำมาพัฒนากิจการของครอบครัวให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้

ในระยะแรกๆ พื้นที่ฟาร์มบางส่วนก็ต้องเช่าดำเนินกิจการ  จนต่อมาจึงสามารถซื้อจากเจ้าของที่ดินเดิมมาเป็นของตนเองได้ โดยใช้เงินกำไรที่มาจากผลการประกอบการกิจการด้านการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามจำหน่าย และได้พัฒนาฟาร์มจนกิจการขยายเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้มี บ่อดิน 37 บ่อ เนื้อที่ 40 ไร่ บ่อซีเมนต์เพาะฟักและอนุบาลขนาด 3X4 เมตร อีกจำนวน 65 บ่อ กำลังดำเนินการผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพมาตรฐาน และความหลากหลายในชนิดและสายพันธุ์

ปี พ.ศ.2549 นายพิเศษฯ สามารถเพาะพันธุ์ปลาหมูอารีย์ ซึ่งเป็นปลาสวยงามที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ได้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ยังไม่มีคนอื่นทำได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดสวยงามชนิดต่างๆ อีกหลากหลายชนิด อาทิ ปลาทรงเครื่อง ปลาหางไหม้ ปลากาแดงเผือก ปลากาแดงนคร ปลาน้ำผึ้งเผือก ปลาน้ำผึ้งดำ ปลาเล็บมือนาง และปลาหมูพม่า

ผลงานและความสำเร็จทั้งปริมาณและคุณภาพ  ทำให้สามารถส่งออกผลผลิตได้มากกว่า 2 ล้านตัวต่อปี มีมูลค่ารวมกว่า 2.5 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและฮ่องกง  ส่วนผลผลิตที่จำหน่ายภายในประเทศมีมากกว่า 3 แสนตัวต่อปี ปัจจุบันเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ขึ้นทะเบียนฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) ตามระเบียบของกรมประมง รวมทั้งเป็นฟาร์มที่ปฏิบัติและรักษาความเป็นมาตรฐานของการจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อการส่งออก (สพอ./สรอ.) ตามหลักเกณฑ์ของกรมประมงอย่างสม่ำเสมอ

นายพิเศษ  สงเคราะห์ ได้ประกอบอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมาโดยตลอด มีประสบการณ์ด้านนี้เป็นเวลากว่า 11 ปี ได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามแก่เกษตรกรและบุคคลภายนอกที่สนใจทั่วไป  และให้ความอนุเคราะห์แก่นักศึกษาเข้ามาฝึกงานภายในฟาร์มเป็นประจำทุกปี

นายพิเศษ  สงงเคราะห์ นับว่าเป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เกษตรกร มีความมุ่งมั่น อดทน คิดค้นเพาะพันธุ์ปลาสวยงามชนิดใหม่ๆ ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำอีกทางหนึ่งด้วย เป็นผู้ที่สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท  จนได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ ประจำปี 2554 และได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2554


**************************************************

ที่มาข้อมูล
เอกสารประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดราชบุรี ครั้งที่ 5/2554 เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พ.ค.2554 ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ อาคารราชบุรีเกมส์ อ.เมือง จ.ราชบุรี
อ่านต่อ >>

นายประยูร วิสุทธิไพศาล..ชาวสวนดำเนิน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2554

ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2554 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ.2554 มีชาวจังหวัดราชบุรี ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 2 ท่านคือ
  1. นายประยูร  วิสุทธิไพศาล สาขาอาชีพพืชสวน
  2. นายพิเศษ  สงเคราะห์ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ

นายประยูร วิสุทธิไพศาล
เกษตรกรแห่งชาติดีเด่นประจำปี 2554 สาขาอาชีพพืชสวน
อายุ 48 ปี อยู่ บ้านเลขที่ 44 หมู่ ที่ 5 ตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
อาชีพ ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม และชมพู่ทับทิมจันทร์

นายประยูร วิสุทธิไพศาล
อาชีพทำสวนนี้นายประยูรฯ สืบทอดมาจากบิดา มารดา เริ่มทำการเกษตรตั้งแต่จบประถมศึกษาปีที่ 4 โดยช่วยครอบครัวปลูกผัก แต่ประสบปัญหาศัตรูพืช และผลผลิตไม่ดี ขายไม่ได้ราคา ทำให้ขาดทุน จึงเปลี่ยนมาปลูกองุ่นแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ครอบครัวได้แบ่งมรดก นายประยูรฯ ได้รับที่ดินจำนวน 16 ไร่ ซึ่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่แล้ว และตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้ชีวิตคุณประยูรและครอบครัวดีขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมถึง 260 ไร่ โดยปลูกในที่ดินตนเอง 80 ไร่ เช่าที่ดินเพิ่มอีก 180 ไร่และยังปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์อีก 80 ไร่ ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ต่อมามี พรบ.วิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้น ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2550 นายประยูรฯ  ได้รวบรวมเกษตรกรทำสวนไม้ผลจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยสารพิษอำเภอดำเนินสะดวก” และได้แนะนำให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่สมาชิกเพื่อให้ผลิตผลที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงการผลิตนอกฤดู และรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เป็นต้น จนสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นอกจากนี้ นายประยูร วิสุทธิไพศาล ยังเป็นปราชญ์ด้านการผลิตไม้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะพร้าวน้ำหอมและชมพู่ทับทิมจันทร์ จึงได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การผลิตมะพร้าวน้ำหอมและชมพู่ทับทิมจันทร์ ให้แก่ นิสิตนักศึกษา เกษตรกรและผู้ที่สนใจ

ด้วยความสนใจใฝ่พัฒนาตนเองทางด้านการเกษตร และมีความขยันหมั่นเพียรทำให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการเกษตรตลอดมา ประกอบกับมีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนเกษตรกรด้วยกันและต่อสังคม จึงส่งเสริมให้ นายประยูร วิสุทธิไพศาล เป็นที่ยอมรับของสังคมว่าเป็นเกษตรกรที่ทั้งเก่ง ทั้งดี มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรสูง และบำเพ็ญตนเพื่อสังคมส่วนรวมมาตลอด


*******************************************************


ที่มาข้อมูลและภาพ
เคหการเกษตร. (2554). "เกษตรกรดีเด่นประจำปี 2554" ,วารสารเคหการเกษตร. [Online]. Available :http://www.kehakaset.com/index.php?option=com_content&view=article&id=281:--2554&catid=38:information. [2554 พฤษภาคม 31 ].
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นายสุรินทร์ เหลือลมัย นักภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.ราชบุรี

นายสุรินทร์ เหลือลมัย
ผมได้มีโอกาสรู้จัก อาจารย์สุรินทร์ เหลือลมัย ในหลายวาระและหลายโอกาส ทั้งฟังท่านบรรยาย อ่านหนังสือและเรื่องราวที่ท่านเขียน ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ เรื่องราวหลายเรื่องใน บล็อกราชบุรีศึกษานี้ ก็อ้างอิงมาจากท่าน และในตอนหลังนี้ ผมยังมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับท่านในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักศิลปและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง อีกด้วย

จริงๆ แล้วเรื่องราว ความรู้ และประสบการณ์ของท่านมีจำนวนมากมาย ซึ่งผมตั้งใจจะไปสัมภาษณ์ท่านด้วยตนเองแล้วนำมาเขียน แต่เผอิญผมไปพบว่าประวัติของท่านได้รับบันทึกไว้ใน "หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จ.ราชบุรี" ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2543 เลยขออนุญาตคัดลอกนำมาไว้ในบล็อกนี้ก่อน ส่วนเรื่องราวเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นกับท่านจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผมจะนำมาเขียนต่อในภายหลัง

นายสุรินทร์ เหลือลมัย เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2480 ที่ตรอกไม้ไผ่งาช้าง อ.เมือง (บ้านดอน) จ.สุราษฎร์ธานี นายสุรินทร์ฯ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษางานด้านศิงปวัฒนธรรมท้องถิ่น จนสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงได้จัดเก็บเป็นข้อมูล ถือเป็นบุคคลที่มีคุณค่า กลุ่มสาขาศิลปวัฒนธรรมชุมชนสมัยทวารวดีในภูมิภาคตะวันตก

นายสุรินทร์ เหลือลมัย เป็นสมาชิกของสมาคมต่างๆ ดังนี้
  • อดีตเลขาธิการสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี
  • อดีตเลขาธิการมูลนิธิประชาอุทิศ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  • อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี
  • กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง
  • กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี
  • กรรมการศูนย์วัฒนธรรมอำเภอจอมบึง
  • ที่ปรึกษาหอประวัติสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง
  • เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จอมบึง วัดจอมบึง
  • คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักศิลปและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

ผลงานด้านต่างๆ
  • ร่วมสร้าง ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนการสอน ของ สปจ.ราชบุรี
  • งานเขียนบทความและสารคดีต่างๆ เช่น
    • "100 ปี จอมบึง" (งบจาก สวช.ปี พ.ศ.2538)
    • "ราชบุรี รุ่งอรุณแห่งปีสืบสานวัฒนธรรมไทย" (งบจาก สวช.ปี พ.ศ.2538) (ดูภาพหนังสือ)
    • "สถาปัตยกรรมไทย จังหวัดราชบุรี" (งบจาก สวช.ปี พ.ศ.2539)
    • "ตำนานจอมบึง" ที่ระลึกพิธีเปิดที่ว่าการอำเภอจอมบึง เมื่อ 11 มี.ค.2542
    • "เครื่องมือหิน (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ในราชบุรี" (โครงการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชบุรี) เมื่อปี พ.ศ.2550 (ดูภาพหนังสือ)
    • บทความในวารสารครูราชบุรี
    • บทความในวารสารเมืองโบราณ
    • บทความใน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง
  • วิทยากรบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในเรื่องต่างๆ ดังนี้
    • เมืองชยบุรี (เกี่ยวกับเมืองราชบุรีในอดีต)
    • ศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมสังคมไทยที่มีผลต่อการพัฒนา
    • เอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีของชาติไทย,ศิลปะพื้นบ้าน ฯลฯ

ผลงานที่ภาคภูมิใจ
หนังสือ "ตำนานนักเดินทาง" ซึ่งได้นำประวัติการเขียนภาพการ์ตูนที่เคยลงในวารสารชัยพฤกษ์ นำเสนอใน ผจญภัยในป่าจินตนาการกับสุรินทร์ เหลือลมัย และงานวิจัยเรื่อง "วันปีใหม่กะเหรี่ยงที่วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง" (งบ สวช.ปี พ.ศ.2540)

เกียรติคุณและรางวัล
  • พ.ศ.2515 และ 2517 รางวัลครูดีเด่นของจังหวัดราชบุรี จาก อบจ.ราชบุรี
  • 2 ก.ย.2537 โล่เกียรติยศศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ในโอกาสครบรอบ 40 ปี
  • 28 พ.ย.2539 ได้รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาวุโส

ความคาดหวังที่จะทำต่อไป
ศึกษา ดูงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับจังหวัดราชบุรี และทำพิพิธภัณฑ์จอมบึง ให้เป็นแหล่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้วัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นอุทยานทางการศึกษา


อาจารย์สุรินทร์  เหลือลมัย

**********************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 328-329) (ดูภาพหนังสือ)

อ่านต่อ >>

นายไพศาล อัตโสภณ ผู้มีผลงานดีเด่นของ จ.ราชบุรี

ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จ.ราชบุรี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 ได้บันทึกเรื่องราวของ นายไพศาล อัตโสภณ ว่าเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นของ จ.ราชบุรี เอาไว้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้  
นายไพศาล อัตโสภณ
ที่มาของภาพ
http://www.saischool.ac.th/

นายไพศาล  อัตโสภณ เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2496 ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนายพิชัย กับนางติ๊ด  อัตโสภณ นายไพศาลฯ สมรสกับ น.ส.สุมาลี  ชลไมตรี มีบุตร 1 คน ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสายธรรมจันทร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ประวัติการศึกษา
  • พ.ศ.2510 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสายธรรมจันทร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  • พ.ศ.2514 จบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ
  • พ.ศ.2516 จบปริญญาตรี วิทยาลัยวิชาการศึกษา จ.สงขลา
  • พ.ศ.2526 จบปริญญาโท สาขาวิชาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานทางด้านวัฒนธรรม
  • ตั้งศูนย์บริการทางวิชาการด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ และประวัติศาสตร์ไทย ณ บ้านอัตโสภณ ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ เทป วีดีโอ สมุดภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนและบุคคลทั่วไปในชุมชน
  • เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีไทย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี
  • เป็นวิทยากรพิเศษในการสอนภาษาไทย และเป็นผู้สร้างความเข้าใจอันดี ด้านวัฒนธรรมประเพณีไทยให้กับชาวต่างประเทศที่มาศึกษาในประเทศไทย
  • เป็นผู้ที่สามารถประยุกต์บทเรียนวิชาภาษาไทย ด้านวรรณคดี ซึ่งเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม และนำเสนอต่อนักเรียนและประชาชนหลายรายการ
  • เป็นผู้สร้างฉาก ผู้กำกับการแสดง และผู้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีในโรงเรียน และในชุมชน เช่น บทละครเรื่องพระสุธน มโนห์รา จัดแสดงที่โรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฎิ์ อ.จองบึง จ.ราชบุรี และโรงภาพยนตร์คิรีทอง เมื่อ พ.ศ.2523 เป็นต้น
  • เป็นหัวหน้ากิจกรรม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทย และสิ่งแวดล้อมโรงเรียน โดยเป็นผู้จัดทำโครงการทางด้านวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย เมื่อ พ.ศ.2537 มากถึง 14 โครงการ
  • เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  • เป็นผู้คิดโครงการและจัดทำโครงการทางด้านวัฒนธรรมให้กับศูนย์วัฒนธรรม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เช่น โครงการวัฒนธรรม 4 ภาค โครงการมหกรรมดนตรี และการแสดงพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
  • เป็นผู้อนุรักษ์วัตถุ และศิลปวัฒนธรรม ทางวัฒนธรรม เช่น ภาพปฏิทินทางวัฒนธรรม เป็นเวลากว่า 20 ปี สะสมแสตมป์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน เครื่องทองเหลือง วีดิทัศน์ ม้วนเทป หนังสือด้านวัฒนธรรม
เกียรติประวัติและรางวัล
  • พ.ศ.2539 รางวัลครูดีเด่นด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ.2541 รางวัล "เข็มคุรุสดุดี" ของคุรุสภา ในฐานะเป็นครูผู้ประพฤติปฏิบัติตน มีจรรยามารยาทดีเด่น
  • พ.ศ.2540-2541 รางวัลบุคคลดีเด่นด้านประสบความสำเร็จในอาชีพ ของสโมสรโรตารี ราชบุรี
  • พ.ศ.2541 รับเกียรติบัตรศิลปินพื้นบ้าน สาขาการแสดง (การละคร) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ.2542 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขานันทนาการและผู้ทำคุณประโยชน์ ประจำปี 2542
  • มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในโรงเรียน ชุมชน และระดับประเทศ จนได้รับการคัดเลือกเป็นฑูตทางวัฒนธรรมเพื่อไปเผยแพร่ชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

*****************************************************

ที่มาข้อมูล
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา. (หน้า 319-320)  (ดูภาพหนังสือ)



อ่านต่อ >>