พระสีวลี หน้าพระอุโบสถหลังใหม่ 2 ชั้น |
"...แต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งวันนี้ เป็นเวลา 31 ปี เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ สติปัญญาที่พอมีให้กับวัดใหญ่อ่างทอง ถึงบางครั้งจะสุขบ้างทุกข์บ้าง ได้รับคำสรรเสริญบ้าง นินทาบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนจะต้องเป็นเช่นนี้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีมารมาผจญ นับประสาอะไรกับคนธรรมดาเช่นเรา แต่ถ้าเราถือสิ่งเหล่านั้น คือ เสียงสวรรค์ ก็ทำให้เราสบายใจ...." พระครูธีญาณประยุต เจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง เขียนไว้เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2553 ในบทความ "หลวงพ่อเปิดใจ อสีติรำลึก" ในคราวทำบุญอายุวัฒนมงคล 80 ปีของท่าน
พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2554 ณ โรงพยาบาลราชบุรี รวมอายุได้ 80 ปี 3 เดือน 6 วันด้วยโรคเนื้องอกในสมอง พระครูธีญาณประยุตฯ นับว่าเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่สมควรนำประวัติและเรื่องราวของท่านมาจารึกเอาไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างและเพื่อเป็นการบันทึกคุณงามความดีของท่านให้คงอยู่เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเรียนรู้สืบไป
พระครูธีญาณประยุตฯ มีนามเดิมว่า เชื้อ นามสกุล คงแคล้ว เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2473 ปีมะเมีย ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ณ บ้านหนองสวง หมู่ที่ 1 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นบุตรของ นายช่วง คงแคล้ว และนางผาด นุ่มจิตร์
ท่านอุปสมบทเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2495 ณ วัดปากท่อ ต.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยมี พระธรรมเสนานี (พระราชธรรมเสนานี อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระม่วง นาคเสโน (พระครูสุนทรจริยาวัตร อดีตรองเจ้าคณะอำเภอปากท่อ อดีตเจ้าอาวาสวัดยางงาม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
วิทยฐานะ
- พ.ศ.2485 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนปากท่อ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
- พ.ศ.2500 สอบได้ น.ธ.เอก สำนักศาสนศึกษา วัดมหาธาตุวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
การศึกษาพิเศษ
ศึกษาอบรมวิชาสมุนไพร หลักสูตรพิเศษการใช้สมุนไพรจากโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพรในโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วิทยากร รุ่นที่ 2 และทั่วไป เป็นรุ่นที่ 57
ความชำนาญการพิเศษ
สามารถอ่านแปลนการก่อสร้าง และชำนาญในนวกรรมการก่อสร้าง
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์และสมณศักดิ์
- พ.ศ.2508 เป็นฐานานุกรมของพระราชวิสุทธิโสภณ (ช้อย มหาธีโร ป.ธ.9) อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี และเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ที่ "พระครูปลัด"
- พ.ศ.2510 เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ.2511 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
- พ.ศ.2513 เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ที่ "พระครูธีรญาณประยุต"
- พ.ศ.2519 เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ในนามเดิม
- พ.ศ.2522 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
- พ.ศ.2523 เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
- พ.ศ.2526 เป็นรองเจ้าคณะตำบลคูบัว เขต 2 อ.เมือง จ.ราชบุรี
- พ.ศ.2528 เป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ.2529 เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในนามเดิม
- พ.ศ.2531 เป็นเจ้าคณะตำบลอ่างทอง
ผลงานการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุ
ตั้งแต่พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา ท่านได้ริเริ่มพัฒนาปรับปรุงเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม แล้วสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุขึ้นใหม่แทนของเดิมเกือบทั้งหมด ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังความตอนหนึ่งที่ พระครูสิริคณาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี ได้เขียนเอาไว้ในบทความ "เสียดายพระผู้สร้างความดี" ซึ่งพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์แจกในวันพระราชทานเพลิงศพของพระครูธีรญาณประยุตฯ ไว้ว่า
" ...เมื่อพระครูธีรฐาณประยุต ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทองแล้ว ท่านก็ได้ดำเนินการพัฒนาเสนาสนะทุกอย่างภายในวัด เพราะเสนาสนะทุกอย่างอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมาเป็นเวลายาวนานหลายปี โดยเริ่มก่อสร้างกุฎิสงฆ์ หอฉัน ศาลาฌาปนสถาน โรงครัว กุฏิเจ้าอาวาส ย้ายศาลาการเปรียญทำเป็น 2 ชั้น ห้องน้ำ หอกลอง หอระฆัง อุโบสถ 2 ชั้น กำแพงหน้าวัด กำแพงรอบวัด สร้างศาลาฌาปนสถานหลังสุดท้าย สร้างซุ้มประตูหน้าวัด คิดเป็นค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท (เจ็ดสิบล้านบาท) สิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นภายในวัดที่ท่านสร้างขึ้นนั้นมีความสวยงาม มีความประณีตมาก สร้างจะช้าไม่ว่า ขอให้มีความมั่นคง สวยงาม ประทับใจของผู้ไปพบเห็นเป็นอย่างมาก รักษาวัดให้มีความสะอาดตลอดมา
อำเภอเห็นว่าควรจะยกย่องเพื่อเป็นเกียรติแก่วัดและเจ้าอาวาส ตลอดถึงผู้อุปถัมภ์วัด จึงได้เสนอวัดใหญ่อ่างทองเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ไปยังกรมการศาสนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานพัดวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นถวายแก่เจ้าอาวาส และอำเภอได้เสนอให้เป็นลานวัด ลานใจ ลานกีฬา ให้กับวัดใหญ่อ่างทอง เพื่อเป็นเกียรติแก่ชุมชนวัดใหญ่อ่างทอง....."
เกียรติคุณ
- พระครูธีรญาณประยุต ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากจังหวัดราชบุรี ให้เป็นบุคคลที่ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม สมควรเป็นตัวอย่างที่ดี "คนทำความดี" ภายใต้โครงการเมืองไทยเมืองคนดี ประจำปีพุทธศักราช 2552
มรณภาพ
พระครูธีรญาณประยุต มรณภาพด้วยโรคมะเร็งในสมอง เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2554 เวลาประมาณ 03:36 นาฬิกา สิริอายุ 80 ปี 3 เดือน 6 วัน ได้รับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 มีชาวบ้าน หน่วยงาน ศิษยานุศิษย์ สลับกันเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมทุกคืนตั้งแต่คืนวันที่ 10 มกราคม 2554 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ 4 มีนาคม 2554
พิธีพระราชทานเพลิงศพ
กระทำในวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2554 (ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4) ณ เมรุพิเศษวัดใหญ่อ่างทอง ต.อ่างทอง จ.ราชบุรี เวลา 16:00 น. (เผาจริงเวลา 20:00 น.) และเก็บอัฐิในเช้าวันที่ 7 มีนาคม 2554 เวลา 06:30 น. (ดูภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ)
คำไว้อาลัย
พระเทพวิสุทธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร : 7 ก.พ.2554
"ท่านพระครูธีรญาณประยุต ท่านอยู่วัดมหาธาตุมาก่อน ท่านเอาธุระพระพุทธศาสนาของวัด เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ดูแลนิตยภัตอาหาร ผลประโยชน์ที่ดิน การบูรณะปฏิสังขรณ์ และการปกครองศิษย์ส่วนคณะ เมื่อมาปกครองวัดใหญ่อ่างทองและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลด้วย แน่นอนท่านย่อมเอาธุระมากขึ้น เพราะรับผิดชอบโดยตรง ประกอบกับเป็นผู้เอาธุระอยู่แล้ว....."
"ท่านพระครูธีรญาณประยุต ท่านอยู่วัดมหาธาตุมาก่อน ท่านเอาธุระพระพุทธศาสนาของวัด เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ดูแลนิตยภัตอาหาร ผลประโยชน์ที่ดิน การบูรณะปฏิสังขรณ์ และการปกครองศิษย์ส่วนคณะ เมื่อมาปกครองวัดใหญ่อ่างทองและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลด้วย แน่นอนท่านย่อมเอาธุระมากขึ้น เพราะรับผิดชอบโดยตรง ประกอบกับเป็นผู้เอาธุระอยู่แล้ว....."
พระครูสิริคณาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี เจ้าอาวาสวัดนาหนอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
"....ชีวิตท่านพระครูธีรญาณประยุตได้เสียสละความสุขในทางโลกเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ยอมมอบกายถวายชีวิตอยู่ในร่วมผ้ากาสาวพัสตร์จนมรณภาพ ทำงานในหน้าที่มาด้วยดี ให้ความร่วมมือในกิจการของคณะสงฆ์มาโดยตลอดทุกองค์กร รู้จักพระมหาเถรานุเถระเจ้าคณะพระสังฆาธิการมากรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี และญาติโยมให้ความเคารพนับถือมากรูปหนึ่งในบรรดาเจ้าอาวาสในเขตอำเภอเมืองราชบุรี.........การจากไปของท่านพระครูธีรญาณประยุตในคราวครั้งนี้ ได้ชื่อว่าคณะสงฆ์อำเภอเมืองราชบุรีต้องสูญเสียพระสังฆาธิการผู้มีความรู้ดี มีความสามารถไปรูปหนึ่ง และชาววัดใหญ่อ่างทองต้องสูญเสียผู้นำของวัดไปอย่างไม่มีวันกลับ
ซึ่งสัจจธรรมมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวรอยู่ได้ ต้องประสบกับความจริงทุกรูปนาม แต่สิ่งที่ท่านพระครูฯ ได้สร้างไว้พัฒนาไว้จะคงอยู่คู่กับชาววัดใหญ่อ่างทองไปชั่วกาลนาน....."
พระกิตติสารเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดเขาวัง อ.เมือง จ.ราชบุรี
"พระเดชพระคุณ พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) ท่านเป็นพระเถระที่มีความสามารถหลายสิ่งหลายประการในการพัฒนาพุทธสถาน เช่น อุโบสถ ศาลา ฌาปนสถาน และสิ่งต่างๆ อีกมากมายให้สวยงาม ฉลาดหลักแหลมในการปกครองคณะสงฆ์ ส่งพระไปจำพรรษาที่วัดร้าง เช่น วัดท่ามะเฟือง วัดไผ่ล้อม และที่ภูเขาหลวง จนได้รับอนุมัติยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีภิกษุจำพรรษาจากมหาเถรสมาคม....."
นาวาอากาศเอกทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
"......ผมเห็น "ท่านเชื้อ" ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2505 และผมเห็น "พระครูธีรญาณประยุต" หรือ "หลวงพี่เชื้อ" ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ผมไม่ได้นับหรอกว่ามันกี่ปี กี่เดือน กี่วัน ผมรู้ว่า ปีหน้าถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ แม้จำนวนเครื่องสักการะของครอบครัวผมจะต้องลดลงไปอีก 1 ชุด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงพี่เชื้อให้ผมมาตลอดเวลาอันยาวนาน จะไม่มีวันลดลงไปจากหัวใจของผมเลยแม้แต่น้อย"
หลวงพ่อเปิดใจ อสีติรำลึก
พระครูธีรญาณประยุต เจ้าคณะตำบลอ่างทอง และเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทอง : เขียนไว้เมื่อ 30 กันยายน 2553 ในหนังสือสูจิบัตรและคุณานุสรณ์ ทำบุญอายุวัฒนมงคล 80 ปี เมื่อ 3-4 ตุลาคม 2553
".....จากวันนั้นถึงวันนี้ ทำงานในหน้าที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เป็นเวลาหลายสิบปี รู้สึกเหนื่อยบ้าง เมื่อยบ้าง เป็นธรรมดาของสังขาร มีเกิด มีดับ ตามสามัญลักษณะ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) มีสุข มีทุกข์ ตามธรรมดาชองชาวโลก ต้องเป็นเช่นนี้ด้วยกันทุกผู้ทุกนาม ตายเมื่อไรจบเรื่องเมื่อนั้น ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ประชดชีวิต แต่มันเป็นไปตามที่มีอายุมากแล้ว ที่เขาจะขนานนามว่า "ผู้เฒ่า" เช่นเราวันนี้
ท้ายนี้ขอขอบคุณ ขอบใจ ทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้งานครั้งนี้สัมฤทธิ์ตามความมุ่งหมายของข้าพเจ้า ขอความดีงามจงมีแด่ทุกท่านเทอญ"
อ่านเพิ่มเติม
(ภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ)
(ประวัติวัดใหญ่อ่างทอง)
(ภาพชุดวัดใหญ่อ่างทอง ที่ตั้ง เส้นทาง และพิกัด)
(ภาพชุดหน้าต่างไม้แกะสลัก วัดใหญ่อ่างทอง)
อ่านเพิ่มเติม
(ภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ)
(ประวัติวัดใหญ่อ่างทอง)
(ภาพชุดวัดใหญ่อ่างทอง ที่ตั้ง เส้นทาง และพิกัด)
(ภาพชุดหน้าต่างไม้แกะสลัก วัดใหญ่อ่างทอง)
ที่มา :
วัดใหญ่อ่างทอง. (2554).แนวคิดทางธรรม : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ น.ธ.เอก) .กรุงเทพฯ : สหธรรมิก. แจกจ่ายเมื่อ 6 มีนาคม 2554.
หมายเหตุ : ผมเขียนบทความนี้ นอกเหนือจากเป็นการบันทึกเรื่องราวของบุคคลสำคัญฯ ในบล็อกราชบุรีศึกษา นี้แล้ว ผมยังมีความตั้งใจอีก 2 ประการคือ
- เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุญ ในฐานะที่พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปัญฺโญ) ท่านมีความสนิทชิดเชื้อและมีความเมตตาต่อครอบครัวของผมในสมัย ตา แม่ และพ่อ คราวครั้งจำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุวรวิหาร พอเมื่อย้ายไปวัดใหญ่อ่างทอง ก็ห่างเหินกันไป แต่ท่านยังจำผมได้เสมอ เมื่อท่านเห็นผมทีไร ในงานพิธีต่างๆ ท่านก็ให้ความเมตตาถามถึงสารทุกข์สุขดิบ ของผมและครอบครัวมาโดยตลอด
- วันที่เขียนนี้ ตรงกับวันเกิดของผมพอดี ผมไม่ได้ไปทำบุญตักบาตรที่ไหน ผมตั้งใจทำบุญด้วยการเขียนบทความบทนี้ เพื่อเผยแพร่คุณงามความดี ของพระสังฆาธิการรูปหนี่งที่ทำงานด้วยความเสียสละมาโดยตลอด ซึ่งบทความนี้ จะเป็นความรู้ที่จะสืบทอดไปยังชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
นาวาอากาศเอกทองย้อย แสงสินชัย
ตอบลบที่ถูกต้อง คือ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย