วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

หมอสูน หงษ์ทอง ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรและยาไทยของราชบุรี

ผมเคยได้ยินพ่อแม่เอ่ยถึงเรื่องราว "หมอสูนฯ" ให้ผมฟังเสมอตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก แต่ก็ไม่ได้เคยสนใจอย่างเป็นจริงเป็นจังมากนัก จนกระทั่งผมพบหนังสือ "หมอสูน คนดี" ซึ่งเขียนโดย คุณเอนก นาวิกมูล ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2551  จึงเข้าใจแล้วว่า หมอสูนฯ เป็นปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดราชบุรีที่น่ายกย่องอีกท่านหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา เรื่องราวของหมอสูนฯ ไม่เคยถูกบันทึกเป็นหลักฐานในทำเนียบบุคคลสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเอกสารใดๆ ของจังหวัดราชบุรีเลย  ผมจึงคิดว่าน่าจะนำประวัติท่านโดยสังเขปมาเขียนไว้ในบันทึกนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ เรียนรู้ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป

หมอสูน หงษ์ทอง
ประวัติส่วนตัว
บรรพบุรุษดั้งเดิมของ หมอสูนฯ มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่คลองตาจา  (ปัจจุบันเรียกว่าคลองตาจ่า) ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี   บิดาของหมอสูนฯ ชื่อ "หงษ์"  มารดาชื่อ "จันทร์" (ภาษาสันสกฤตแปลว่า ดวงเดือน,ทองคำ)  แต่ก่อนยังไม่มีนามสกุล พอถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิด พ.ร.บ.ให้ใช้นามสกุล หมอสูนฯ จึงเอาชื่อบิดามารดามาประกอบกันกลายเป็นนามสกุล "หงษ์ทอง"

หมอสูน หงษ์ทอง เกิดในเรือนแพที่ลอยลำอยู่ปากคลองวัดช่องลม อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 3 ปีชวด ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2419 มีพี่สาว 1 คนชื่อ "น้อย"    และน้องสาว 2 คน ชื่อ "ศรี" กับ "เทียม" พี่น้องทั้งสามคนเสียชีวิตก่อนหมอสูนฯ ทั้งสิ้น หมอสูนฯ ถึงแก่กรรมหลังสุดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2509 สิริอายุรวมได้ 91 ปี

หมอสูนฯ แต่งงานกับ นางม้วน กลิ่นหอม (บุตรีนายจูกับนางส้มจีน) มีบุตรธิดา 3 คน คือ นางสมานสุข  อรรถจินดา, นายสมัคร  หงษ์ทอง และนายเสมอ หงษ์ทอง มีหลานตา 4 คน หลานปู่ 4 คน 

เรียนหนังสือที่วัดขรัวเหลือ
นายหงษ์ฯ บิดาของหมอสูนฯ เสียชีวิตตั้งแต่หมอสูนฯ ยังเล็ก จึงเป็นภาระหนักของนางจันทร์ ผู้เป็นมารดาในการเลี้ยงดูบุตร เมื่อหมอสูนฯ อายุใกล้  10 ขวบ (พ.ศ.2428) นางจันทร์ก็พาไปฝากเรียนกับ อาจารย์ปั่น เปรียญ 5 ประโยค เจ้าอาวาสวัดขรัวเหลือ (ปัจจุบันคือ วัดเขาเหลือ อ.เมือง จ.ราชบุรี) เหตุที่ต้องเรียนที่วัดเพราะสมัยก่อนโรงเรียนหายากมาก  การเรียนก็อาศัยกระดานไม้ทาเขม่าจากดินหม้อวางพาดตักแทนสมุด ใช้ดินสอไทยเขียน ก ขอ ก กา ลงไป หมั่นท่องบ่อยๆ ที่สุดก็อ่านออกเขียนได้

ณ วัดขรัวเหลือนี่เอง ที่เด็กชายสูนฯ เริ่มสนใจเรื่องสมุนไพรไทยและวิชาช่างไม้ เพราะอาจารย์ปั่นมีตำรับตำรามาก ทั้งยังหมั่นทำยาไว้รักษาพระภิกษุสามเณรในวัด กับยังเผื่อแผ่ไปถึงชาวบ้านนอกวัดด้วย

ไปอยู่อู่ต่อเรือเริ่มเป็นช่างไม้ และช่างเหล็ก
เมื่อใกล้วัยหนุ่ม พี่สาวชื่อน้อย ซึ่งแต่งงานกับเจ้าของอู่เรือ  ขอให้นายสูนฯ น้องชาย ไปช่วยงานเป็นช่างที่อู่เรือทางคลองหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ เริ่มต้นนายสูนฯ ก็เป็นแค่ลูกมือ แต่นายสูนฯ ได้พยายามเรียนรู้ และพัฒนาฝีมือเชิงช่างจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของเจ้าของอู่เรือ สามารถถึงขั้นทำหางเสือเรือ และส่วนต่างๆ ของเรือได้ และที่นี่ นายสูนฯ ก็ยังได้ศึกษาวิชาช่างเหล็กอีกแขนงหนึ่งด้วย นายสูนฯ เป็นคนปราณีต มีวินัย เอาใจใส่กับงาน จนกระทั่งนายช่างที่อู่เรือ ออกปากว่า "ต่อไปนายสูนจะเป็นช่างที่ดีได้คนหนึ่ง"

กลับไปบวช
พออายุใกล้ 20 ปีบริบูรณ์ นางจันทร์ผู้มารดาก็ตามนายสูนฯ จากอู่เรือกลับไปบวชที่วัดเขาเหลือ โดยมีพระอาจารย์ปั่นเป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์คง เป็นกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อตั๋นแห่งวัดมหาธาตุ ราชบุรี เป็นอนุศาสนาจารย์ ที่นี่ พระสูนฯ ได้ใช้เวลาว่างจากการศึกษาธรรมวินัย ช่วยจารอักษรขอมลงในใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา ช่วยปฏิสังขรณ์วัดหลายอย่าง โดยใช้ฝีมือเชิงช่างที่มีอยู่  เป็นต้นว่า บานประตูโบสถ์ ยกหอสวดมนต์ สร้างกุฎิ ซ่อมวิหารฯ  จนเป็นที่ไว้วางใจและเชื่อมั่นของพระอาจารย์ปั่น

ร้านทองช่างสูน ราชบุรี
พระสูนฯ บวชได้ 3 พรรษาก็ขอลาสิกกาไปเฝ้าพยาบาลพี่สาวซึ่งป่วยหนักที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งพี่สาวเสียชีวิต จึงกลับมาอยู่กับนางจันทร์ผู้เป็นมารดาที่ราชบุรีดังเดิม ต่อมาได้ไปฝึกหัดวิชาทำทองกับครูแหล ใกล้วัดแก้วฟ้าล่าง ย่านสี่พระยา อยู่ 3 เดือน  แต่ก็ต้องรีบกลับมาราชบุรี เพราะเกิดไฟไหม้ราชบุรีครั้งใหญ่ ทำให้ครอบครัวต้องหาที่อยู่กันใหม่ เมื่อได้ที่อยู่ใหม่แล้ว นายสูนก็เปิดร้านทำทองขึ้นด้วยความรู้ที่เรียนมาเพียง 3 เดือนนั่นเอง


ณ ร้านทองช่างสูน นี้ค่อยๆ ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยเหตุที่ช่างสูนฯ มีฝีมือและมีวิธีประดิษฐ์เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความปราณีตและมั่นคง ในการทำทองเกือบทุกรูปแบบ ทำให้ใครต่อใครที่ได้งานนายช่างสูน มักมีความภูมิใจ เอาของอวดต่อๆ กันไปจนคนนิยมอย่างรวดเร็ว แม้คนที่อยู่ทางกาญจนบุรี เพชรบุรี ก็ยังอุตส่าห์เดินทางมาจ้างถึงที่


ภาพถ่ายที่หม่อมเจ้าสฤษดิเดช
มอบให้แก่นายสูน เมื่อ พ.ศ.2459
มีลายมือและลายเซนเขียนว่า
"ให้นายสูนไว้เปนที่รฤก ที่ได้คุ้นเคย
ชอบพอกันมาเป็นเวลาช้านาน
หม่อมเจ้าสฤษดิเดช
๓๐ มังกร -๕๙"
ภาพจากตระกูลหงษ์ทอง
และด้วยความสามารถนี่เอง นายสูนช่างทองราชบุรี ก็ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกปรือพัฒนาฝีมือให้สูงยิ่งขึ้นในสถานชุมนุมช่างทองชั้นนำของเมืองไทยในสมัยนั้น คือ ห้างแกรเลิร์ต ช่างหลวง ถนนตะนาว กรุงเทพฯ โดยการชักชวนของคุณหลวงหิรัญเลขาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นช่างสลักเครื่องเงินเครื่องทองฝีมือเอกของกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ  

ห้างแกรเลิร์ตหรือห้างกรัยเลิศ นี้เป็นช่างทองสำหรับทำเครื่องต้น เครื่องทรง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฏราชกุมาร


ช่วยงานพระเมรุ
นายสูนฯ ยังได้เคยไปช่วยงานพระเมรุ ด้วย โดยสมัยนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทองหลวงสร้างพระเบญจาทองคำสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศทรงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) โดยที่ประชุมเสนาบดีสภาได้มอบหมายให้กรมหลวงสรพพสาตรศุภกิจ เป็น "เจ้าหน้าที่ทำพระเบญจาทองคำ"

นายสูนฯ ช่างทองราชบุรี ก็ได้รับโทรเลขเรียกตัวเข้าไปช่วยงาน ซึ่งงานสำหรับพระมหากษัตริย์นี้เป็นงานช่างที่ต้องการความประณีตสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สำคัญยิ่งในชีวิตของนายสูนฯ ช่างทองราชบุรี

ลูกค้าประจำ
งานทำทองของนายสูนฯ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ถึงแม้จะจ้างลูกมือเพิ่มเติมอีกหลายคนก็ยังทำแทบไม่ไหว ลูกค้าประจำที่เกือบจะเรียกได้ว่าผูกขาดกับนายสูน จนแทบจะไม่มีเวลาทำให้ใครอื่น ได้แก่ หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร ผู้ว่าราชการเมืองและเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี พระยานราทรหิรัญรัตน์ คลังจังหวัด นายพลโทพระยาพหลโยธิน (นพ พหลโยธิน) และหม่อมเทวาธิราช (ม.ร.ว.แดง อิศรเสนา) เป็นต้น

โรงเรียนบ้านช่างทอง
ด้วยช่างสูนฯ เป็นผู้มีใจเมตตาอารี ช่างสูนฯ ยังได้สละเวลาสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ลูกหลานบ้านใกล้เรือนเคียงอีกทาง การสอนก็สอนกันในตัวร้านทองนี่เอง ไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียนใหญ่โตที่ไหน มือทำทองไปพลาง ปากก็สอนหนังสือไปพลาง ช่างสูนฯ เป็นคนฉลาดในการสอนและมีอารมณ์ดี ถึงเวลาเที่ยงวัน ช่างสูนก็ให้เด็กๆ รับประทานอาหารและนอนพักผ่อนคล้ายกับที่ปฏิบัติกันตามโรงเรียนอนุบาลในปัจจุบัน


หมอสูน ผู้เชี่ยวชาญยาไทยของราชบุรี
ความจริงแล้วอาชีพช่างทองมิได้ทำให้นายสูนฯ มีเงินเต็มหีบแต่อย่างใด เพราะงานที่ทำเป็นงานช่าง คนทำรักแต่จะทำของให้ดี มิใช่ทำลวกๆ หวังเอาเงินเร็วๆ และด้วยความที่นายสูนฯ เป็นคนรักสันโดษ รักที่จะเชิดชูศิลปะมากกว่าลาภสักการ กว่าจะได้เงินจึงเสียเวลาไปเหลือประมาณ ทั้งสุขภาพตาก็ค่อยๆ เสื่อมลงไปเร็วกว่าคนรุ่นเดียวกัน เหตุเพราะสมัยก่อนนั้น การเป่าแล่น (หลอดสำหรับเป่าเชื่อมทอง) ยังไม่มีเครื่องผ่อนแรง ต้องใช้ปากเป่าโดยตลอด ตาต้องเพ่งมองฝ่าเปลวไฟดูตลอดเวลาว่าทองละลายหรือยัง


นับแต่ลาสิกขามา....
แม้นายสูนฯ จะประกอบอาชีพช่างทองเป็นหลัก แต่ก็ไม่เคยทอดทิ้งวิชาแพทย์ที่เคยเรียนจากอาจารย์ปั่นเลย
ขณะทำทองมีเวลาว่างเมื่อใดก็พยายามทำยาไปด้วยสำหรับไว้ใช้ในครัวเรือน นอกจากนั้นก็ยังเจือจานไปถึงครอบครัวผู้รักใคร่สนิทชิดชอบกันอีกด้วย บ้านเหนือบ้านใต้ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะนึกถึงนายสูนฯ ก่อนเสมอ เมื่อรับยาไปแล้ว หากไม่หายก็แสดงว่าอาการมาก ต้องไปตามหมอกันจริงๆ จังๆ แต่ส่วนใหญ่มักจะหาย เพราะนายสูนฯ มียาดีๆ มากมาย


หน้าร้านนางม้วน
จำหน่ายยาไทยในปัจจุบัน
ภาพโดย เอนก นาวิกมูล
นายสูนฯ เริ่มรามือจากช่างทอง หันมาผลิตยาไทยขาย และเริ่มมีคนมาปรึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ในที่สุดนายสูนฯ ก็กลายเป็น หมอสูนฯ ที่ต้องเดินไปดูไข้ที่บ้านชาวบ้านบ่อยมากขึ้น บางครั้งถึงครั้นต้องค้างวันค้างคืนเฝ้าไข้คนเจ็บ คอยให้ยาด้วยตัวท่านเอง


หมอสูนฯ ได้รับการถ่ายทอดวิชาเพิ่มเติมอีกจาก คุณหมออยู่ เป็นหมอเก่าแก่ของราชบุรี ซึ่งเคยรักษาไข้หนักๆ หายมามากต่อมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง


หมอสูนฯ เปิดร้านที่ตึกแถวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษตริย์ (ร้านปัจจุบัน ริมถนนวรเดช) โดยใช้ชื่อว่า "นางม้วนจำหน่ายาไทย" (เนื่องจากสมัยนั้นมี พ.ร.บ.กำหนดว่า ใครเป็นหมอรักษา จะขายยาไม่ได้ ดังนั้นหมอสูนฯ จึงตั้งชื่อภรรยาคือ นางม้วน เป็นชื่อร้าน) หมอสูนฯ จัดได้ว่าเป็นแพทย์แผนโบราณในสมัยนั้น ที่ผู้คนจำนวนมากล้วนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในวิชาความรู้ มาให้รักษาโรคภัยไข้เจ็บกันเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการรักษาด้วยยาที่ทำจากสมุนไพร


ถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณให้นิสิตจุฬาฯ
ปี พ.ศ.2484 หมอสูน หงษ์ทอง ขณะอายุได้ 65 ปี ได้รับเชิญจาก ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บรรยายวิชา "ต้นไม้ยาไทย (Thai Medical Plants)"  โดยการเสนอชื่อของ อาจารย์ไฉน  สัมพันธารักษ์ (ชาวราชบุรีซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ในแผนกนี้)  หลังจากมีการทดสอบความสามารถโดย ดร.ตั๋วฯ แล้ว ในที่สุดหมอสูนฯ ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นอาจารย์พิเศษ  แก่ นิสิต คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในทุกๆ วันอังคาร หมอสูนฯ จะต้องนั่งรถไฟไปสอนที่นั่น โดยการสอนในครั้งนี้ หมอสูนฯ ก็ไม่ได้คิดถึงเงินค่าตอบแทนแต่อย่างใด เพราะเป็นคนสมถะโดยนิสัย ที่ไปสอนก็เพราะเห็นแก่กุลบุตรกุลธิดาที่จะได้รับวิชา  กับเพื่อเป็นการรักษาวิชายาไทยไม่ให้เสื่อมสูญไปเท่านั้น

บั้นปลายชีวิต
หมอสูนยังคงแข็งแรง ลุกนั่งยืนเดินได้สะดวก มือเท้าไม่สั่น หูยังไม่ตึง กระแสเสียงยังไม่แหบเครือ สติปัญญายังดี ความจำยังแม่นยำ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน ตราบกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยเส้นโลหิตใหญ่ในสมองแตกในเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2509 เวลา 06:32 น. สิริรวมอายุได้ 91 ปี

ยาในร้านหมอสูน
ถ่ายภาพโดย เอนก นาวิกมูล

ความน่าสนใจในตัวหมอสูน หงษ์ทอง
เขียนโดย เอนก นาวิกมูล
"หมอสูนเป็นสามัญชนพลเมืองชาวสยาม ผู้มิได้เชี่ยวชาญแต่เรื่องสมุนไพรและยาไทยโบราณเพียงอย่างเดียว หากยังมีความสามารถทางช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างทองชนิดหาตัวจับได้ยากอีกด้วย หมอสูนอยู่ในวิถีชีวิตแบบไทยซึ่งผูกพันกับพุทธศาสนา มีความเมตตาเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ มีความขยันหมั่นเพียรและรู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกที่ที่ไปอยู่ ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรัก ยามที่มีเหตุการณ์คับขัน หมอสูนก็รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ชีวิตของหมอสูนจึงเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีรายละเอียดให้คนรุ่นหลังดูเป็นแบบอย่างได้ เรียกว่าเกิดมาแล้วไม่เสียทีที่เกิดเลย"

ที่มา :
เอนก นาวิกมูล. (2551). หมอสูน คนดี. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

อ่านเรื่องราวของหมอสูน หงษ์ทอง
ฉบับเต็มได้จากหนังสือเล่มนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น