วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นายอานันท์ ปันยารชุน ผู้ดีรัตนโกสินทร์..อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย

ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สมัยที่ 1 : คณะรัฐมนตรี คณะที่ 47 : 2 มีนาคม พ.ศ.2534 – 22 มีนาคม พ.ศ.2535
สมัยที่ 2 : คณะรัฐมนตรี คณะที่ 49 : 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 – 22 กันยายน พ.ศ.2535

ประวัติ
นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2475 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) บรรพบุรุษเป็นชาวอำเภอโพธาราม และมีวัดประจำตระกูลปันยารชุนอยู่ ณ จังหวัดราชบุรี คือ วัดเขาช่องพราน

เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ดัลลิชคอลเลจ ประเทศอังกฤษ และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ปริญญา (เกียรตินิยม) สาขากฎหมาย พ.ศ.2498

เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่พ.ศ.2498 ระหว่างพ.ศ.2502–2507 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับตำแหน่งเลขานุการเอกคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในพ.ศ.2507

ต่อมาในพ.ศ.2510 ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา จนถึงพ.ศ.2515 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ พ.ศ.2515–2518

นายอานันท์ฯ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อพ.ศ.2519 และตำแหน่งสุดท้ายทางราชการคือ เอกอัครราชทูตประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างพ.ศ.2520–2521 นายอานันท์ฯ ลาออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ในพ.ศ.2522 และเข้าร่วมงานกับกลุ่มบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด

นายอานันท์ฯ ได้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย ตั้งแต่พ.ศ.2523 เมื่อสมาคมอุตสาหกรรมไทยยกฐานะขึ้นเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปลายพ.ศ.2530 นายอานันท์ฯ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรองประธานสภาฯ และเดือนเมษายน พ.ศ.2533 ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ ดำรงตำแหน่งตามวาระเป็นเวลา 2 ปี

นายอานันท์ฯ ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน ระหว่างพ.ศ.2525–2527 และระหว่างพ.ศ.2525–2526 เป็นประธาน ASEAN Task Force ในเรื่องความร่วมมือของอาเซียน อันประกอบด้วยบุคคล 15 คน จากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลอาเซียนระหว่างเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2529 ถึง มกราคม พ.ศ.2534 เป็นประธานฝ่ายอาเซียนในคณะมนตรีอาเซียนสหรัฐอเมริกา

นายอานันท์ฯ เป็นกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการสภาที่ปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กรรมการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอ.ไอ.ที) และกรรมการศูนย์การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี สหรัฐ – อาเซียน ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2533 ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ The World Management Council (CLOS) และในเดือน มกราคม พ.ศ.2534 รับเป็นกรรมการ The Business Council for sustainable Development (BCSD)

นายอานันท์ฯ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด ระหว่างพ.ศ.2528–2533 และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2534

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2534 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยลำดับที่ 18 รัฐบาลซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีได้สร้างผลงานที่สำคัญไว้หลายประการ คือ การปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบข้าราชการ การริเริ่มที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน การส่งเสริมตลาดทุน การส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีในอุตสาหกรรมนโยบายการค้าเสรีภายใต้การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้า การปรับปรุงการสรรพสามิตให้สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนารัฐวิสาหกิจมากขึ้น การเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2534 การพัฒนาชนบท การพัฒนาการเกษตร และการปฏิรูปที่ดิน การเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรศัพท์และโทรคมนาคม การปรับปรุงท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 การดำเนินการขยายโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาระบบอุดมศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการสำรวจผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 โดยได้เริ่มจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น

นายอานันท์ ปันยารชุน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 และต่อจากนั้นได้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จวบจนกระทั่ง พลเอกสุจินดา คราประยูร และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เริ่มปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง และบริหารราชการมาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 และพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2535 เนื่องจากมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2535

ในยุคที่มีกระแสความต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ก่อกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ.2540 อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ นายอานันท์มีบทบาทสำคัญ คือ ได้รับเลือกให้เป็น ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

ด้วยผลงานด้านต่างๆ ที่นายอานันท์ฯได้ทำมา ทำให้นายอานันท์ฯ ได้รับ รางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ในปีพ.ศ.2540 ได้รับการประกาศเกียรติคุณต่างๆ รวมทั้งปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 20 สถาบัน

นายอานันท์ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ (ชั้น 3) มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศอิตาลี เกาหลี อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และในกรณีของอังกฤษนั้น ได้รับ Honorary Knight Commander of the Civil Division of the Most Exellent Order of the British Empire (KBE) ซึ่งถ้าเป็นคนสัญชาติสหราชอาณาจักร ก็จะมีตำแหน่งเป็น Sir

นายอานันท์ฯ สมรสกับ ม.ร.ว. สดศรี จักรพันธุ์ มีบุตรี 2 คน คือ นางนันดา ไกรฤกษ์ และนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ มีหลาน 3 คน คือ น.ส.ทิพนันท์ จากนางนันดา ซึ่งสมรสกับ นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ และ ด.ญ.ศิริญดา และ ด.ช.ธนาวิน จากนางดารณี ซึ่งสมรสกับ ดร.ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์

ด้วยชาติกำเนิด การศึกษา หน้าที่การงาน และพฤติกรรม ทำให้ได้รับฉายา "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"




ที่มาข้อมูล
ห้องสมุดออนไลน์ My First Info. บุคคลสำคัญ: อานันท์  ปันยารชุน. [Online]. Available : https://province.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsID=3957. [2553 ธันวาคม 27 ].

ที่มาของภาพ
http://tumtoilet3.tarad.com/product.detail_243377_th_2182912#

http://www.asamedia.org/2010/06/4322/
http://hongsakul.net/law01/th/law_anand01_th.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น