วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระโอรสในสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกที่ทรงมีพระนามว่าเดิมว่า ทองดี และต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระอักษรสุนทร ตำแหน่งเสมียนตราในสำนักราชเลขานุการ และพระอัครชายาที่ทรงมีพระนามว่า หยก
พระนามเดิมว่า ด้วงหรือทองด้วง ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 9 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 เมื่อพระชนมายุได้ 46 พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติอยู่ 28 พรรษา สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 13 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2342 รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา
พระองค์ทรงมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับเมืองราชบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ตำแหน่งอัยการจังหวัดในปัจจุบัน) ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศหรือสมเด็จพระเจ้าสุริยาศน์อมรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.2301-2310) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่เด่นชัดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญไว้
ต่อมาในสมัยที่พระองค์รับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี ก็ปรากฏหลักฐานถึงความสัมพันธ์ของพระองค์กับเมืองราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง
โดยในปีมะเมีย พ.ศ.2319 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ช่วยกันรบพม่าจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่สมรภูมิบ้านนางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ครั้งต่อมาเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงเป็นจอมทัพบัญชาการรบร่วมกับสมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท) จนกองทัพพม่าของพระเจ้าปดุงต้องแตกพ่ายและเสียชีพไปเป็นจำนวนมากในคราวสงครามเก้าทัพที่สมรภูมิทุ่งเขางู อ.เมือง จ.ราชบุรี ในปี พ.ศ.2328
และต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และม่ทัพนายกองไทยลาว ยกทัพไปปราบพม่าที่เมืองเชียงแสน (อ.เชียงแสน จ.เชียงรายในปัจจุบัน) แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวลาวโยนกเชียงแสน (ไทยยวน) ให้ลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองราชบุรี บริเวณบ้านไร่นที (ตั้งอยู่ในท้องที่ อ.เมืองราชบุรี ในปัจจุบัน) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกลุ่มเชื้อชาติพันธุ์ที่สำคัญเชื้อชาติหนึ่งของ จ.ราชบุรี
ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อชาวราชบุรี ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านไว้ ณ บริเวณเชิงเขาแก่นจันทน์ อ.เมือง ราชบุรี
ที่มา :
-มโน กลีบทอง.(2544 ). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. หน้า 254.

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นที ปี พ.ศ.2319 ที่ว่า ร.1 รบที่บางแก้วอาจจะคลาดเคลื่อนครับ
    ศึกบางแก้วโพธาราม (บ้านนางแก้ว) สมัยพระเจ้าตากครับ พ.ศ.2317
    วุฒิ บุญเลิศ

    ตอบลบ